14 ก.พ. 2563 1,772 50

เลขาธิการ กสทช. นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องประมูล 5G โชว์ความพร้อมสำหรับการประมูล 5G ในวันอาทิตย์ที่ 16 ก.พ.นี้

เลขาธิการ กสทช. นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องประมูล 5G โชว์ความพร้อมสำหรับการประมูล 5G ในวันอาทิตย์ที่ 16 ก.พ.นี้

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (14 ก.พ. 2563) สำนักงาน กสทช. นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องประมูล 5G พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับกระบวนการประมูลและกฎการประมูล เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎ และวิธีการประมูล ในส่วนของผู้เข้าร่วมการประมูล 5G สำนักงาน กสทช. จัดการชี้แจงกระบวนการและกฎการประมูล (Bidder information session) และการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) เป็นวันที่ 2

สำหรับสถานที่จัดการประมูล สำนักงานฯ ได้จัดห้องประมูลอยู่ที่อาคารอำนวยการ ชั้น 3 จำนวน 4 ห้อง จัดเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน Bidder 5 คน ชั้น 11 จำนวน 1 ห้อง จัดเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน Bidder 2 คน และจัดห้องประมูลสำรองไว้ที่ ชั้น 10 จำนวน 1 ห้อง โดยในห้องประมูลทุกห้องจะจัดแบ่งเป็น โซนประมูล โซนรับประทานอาหาร และห้องน้ำ โดยสำนักงาน กสทช. ได้จัดอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ให้ในห้องประมูล เช่น อุปกรณ์สำหรับการประมูล ได้แก่ คอมพิวเตอร์สำหรับประมูล 2 เครื่อง Notebook สำหรับคำนวณ 2 เครื่อง เครื่อง Printer 1 เครื่อง จอ Monitor 3 จอ เครื่องคิดเลข พร้อมจัดเตรียมคู่มือที่เกี่ยวข้อง ประกาศหลักเกณฑ์ฯ คู่มือปฏิบัติตน คู่มือการใช้ Software แบบคำร้อง รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องเขียนที่จำเป็นต่างๆ นอกจากนั้นสำนักงานฯ ยังได้จัดเตรียมเครื่องใช้และสิ่งของอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟ ขนมขบเคี้ยว ยาสามัญประจำบ้าน หน้ากากอนามัย เอาไว้ให้ผู้เข้าร่วมการประมูล และได้จัดเตรียมแพทย์ จำนวน 1 คน และพยาบาล จำนวน 4 คน ประจำที่ห้องพยาบาลสำนักงาน กสทช. ตลอดการประมูล ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดอาคารหอประชุมชั้น 1 เป็นสถานที่สังเกตการณ์การประมูล โดยจะมีจอแสดงผลการประมูล พร้อมเจ้าหน้าที่คอยบรรยายให้คำแนะนำประกอบตลอดการประมูล

ฐากร กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 สำนักงาน กสทช. เลือกใช้วิธีการประมูลแบบ Clock Auction ในการประมูล นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเลือกใช้การประมูลรูปแบบนี้ เนื่องจากช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินการประมูล เพราะการประมูลครั้งนี้เราวางแผนจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 4 คลื่นพร้อมกัน คือ คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งจำนวนชุดคลื่นความถี่ถึง 19 และ 27 ชุดตามลำดับ หากใช้การประมูลรูปแบบเดิมจะทำให้เวลาที่ใช้ในการประมูลยาวนานมาก นอกจากนี้ ระบบการประมูลแบบ Simultaneous Ascending Clock Auction ช่วยให้การระบุราคามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปัจจุบัน หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ก็เปลี่ยนรูปแบบการประมูลจาก Simultaneous Muti-Round Auction (SMRA) มาเป็นรูปแบบ Clock Auction เช่นกัน

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz จะประมูลตามลำดับจากคลื่นย่านต่ำไปคลื่นย่านสูง โดยการประมูลแต่ละคลื่นความถี่จะประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Allocation Stage) ด้วยรูปแบบการประมูลแบบ Clock Auction และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage) ซึ่งจะเปิดให้ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายยื่นข้อเสนอสำหรับแต่ละทางเลือก (First-price Sealed-bid Auction)

เลขาธิการ กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประมูลแบบ Clock Auction เป็นการเสนอจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการ ณ ราคาประมูลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละรอบ โดยหลังจากการประมูลรอบแรกแล้ว ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถยืนยันจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการในราคาที่เพิ่มขึ้น หรือลดจำนวนคลื่นความถี่ลง โดยจะต้องระบุราคาที่เต็มใจจ่ายทุกครั้งที่ลดจำนวนคลื่นความถี่ลง โดยการประมูลแบบ Clock Auction จะสิ้นสุดลงเมื่อความต้องการจำนวนคลื่นความถี่เท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอขาย ทั้งนี้ หากในรอบแรก ความต้องการจำนวนคลื่นความถี่มีน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอขาย การประมูลจะจบในรอบแรก

สำนักงาน กสทช. พร้อมเต็มที่ สำหรับการประมูล 5G ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 ก.พ. นี้ เราได้ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมการประมูล เกี่ยวกับกฎการประมูล ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการประมูล เปิดให้มี Mock Auction เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการใช้ซอฟท์แวร์การประมูล จัดเตรียมสถานที่ประมูล อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงแพทย์ พยาบาลกรณีเหตุฉุกเฉินไว้พร้อม” ฐากร กล่าว

COMMENTS