25 ก.พ. 2563 1,725 14

กรมการขนส่งทางราง รถไฟฟ้า BTS และ AIS สร้างความมั่นใจ คลื่น 5G ไม่กระทบการเดินรถ และผู้โดยสาร

กรมการขนส่งทางราง รถไฟฟ้า BTS และ AIS สร้างความมั่นใจ คลื่น 5G ไม่กระทบการเดินรถ และผู้โดยสาร

สรพงศ์ ไพทูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส และ วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมกันยืนยันความพร้อมในการร่วมทดสอบการใช้คลื่นความถี่โทรคมนาคม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้โดยสารรถไฟฟ้า หลังจากมีการประกาศเปิดให้บริการ 5G โดยผลการทดสอบที่ผ่านมายังไม่พบผลกระทบกับการเดินรถแต่อย่างใด

สรพงศ์ ไพทูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบงานด้านระบบรางของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 5G จึงกำหนดให้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งลงพื้นที่ทดสอบคลื่นความถี่ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) ผู้ให้บริการคลื่นความถี่ 5G และ บีทีเอส ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (สายสีเขียว) เพื่อตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น พร้อมหาวิธีป้องกันการเกิดผลกระทบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพของระบบการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งผลการทดสอบในเบื้องต้น ยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างใด  อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางได้ขอให้ทั้งสองหน่วยงานดำเนินการทดสอบผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และให้บีทีเอสดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่นรบกวนตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครบภายใน 5 เดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ย้ำว่า “ที่ผ่านมา บีทีเอส ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยได้มีการศึกษาและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกันระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในระบบโทรคมนาคม กับคลื่นที่ใช้ในการเดินรถไฟฟ้า โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อ กสทช. ประกาศแผนในการนำคลื่นความถี่ 2500-2600 MHz มาประมูลเพื่อใช้ในกิจการ 5G บีทีเอสจึงได้เข้าหารือรายละเอียดกับทาง กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และกรมการขนส่งทางราง เพื่อเตรียมการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเดินรถ รวมทั้งได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทางผู้ผลิตและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถของบีทีเอสเอง และทางเอไอเอส ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่ชนะการประมูลคลื่น 2500-2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่อยู่ใกล้ชิดกับคลื่นวิทยุ 2400-2500 MHz ที่ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้อยู่ ได้มีการทำงานร่วมกับเอไอเอสอย่างใกล้ชิด เพื่อทดสอบและป้องกันปัญหาเรื่องคลื่นรบกวน โดยได้มีมาตรการร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเดินรถ แม้ว่าการทดสอบเบื้องต้นจะไม่พบปัญหาใด ๆ แต่เราจะยังคงร่วมมือกันเดินหน้าทดสอบอย่างต่อเนื่อง ในทุกช่วงเวลา และทุกเส้นทางเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการของทั้ง 2 องค์กร ขณะที่บีทีเอสเองก็ได้ลงทุนติดตั้งระบบป้องกันตัวกรองคลื่น ในกรณีที่พบการรบกวนแฝงจากคลื่นความถี่ต่าง ๆ เพื่อให้การเดินรถไม่เกิดปัญหาในระยะยาว"

ขณะที่ วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เอไอเอสให้ความสำคัญกับการป้องกันผลกระทบจากคลื่นความถี่มาโดยตลอด และทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับบีทีเอสซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของคนเมือง เอไอเอสได้ร่วมมือกันทดลอง ทดสอบมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562ก่อนเปิดประมูลและเข้มข้นยิ่งขึ้นหลังจากประมูลเรียบร้อย ในทุกเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขยายเครือข่ายทั้ง 4G / 5G โดยการทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างไรก็ตามเราจะยังคงเดินหน้าทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้โดยสารและสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะได้ใช้งานระบบสื่อสารและระบบโดยสารที่ดีที่สุด อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง ขอขอบคุณ กสทช. บีทีเอส และเอไอเอส ในการสนับสนุนและร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย และใช้งานทั้งระบบการสื่อสารและระบบโดยสารรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

COMMENTS