สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วย กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้เร่งดำเนินการ 4 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการ DG Learning Platform 2. โครงการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในพื้นที่ EEC 3. โครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจฐานราก และ 4. การขับเคลื่อนการใช้ Digital ID ในภาครัฐ และมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA หลังจากผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนได้กำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการเรื่องการปรับเปลี่ยนข้อมูลเป็นดิจิทัล การจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐ ภายใน 3 ปี และเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรองรับการให้บริการกับ 3 กลุ่มสำคัญ คือ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และชาวต่างประเทศ
นอกจากนี้ คกก. DG ได้แต่งตั้ง 2 อนุกรรมการเพิ่มเพื่อช่วยเสริมทัพการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้แก่ คณะอนุกรรมการสถาปัตยกรรม และมาตรฐานการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ (GCIO) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน
ในการประชุมครั้งนี้ คกก. DG ได้อนุมัติมาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ ในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ โดยเร่งผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางเปิดข้อมูลภาครัฐ ที่เว็บไซต์ data.go.th เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถนำไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ได้เสนอแนะแนวทางดำเนินโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจฐานราก โดยให้หารือกับเจ้าของ Platform อื่นๆ ด้วย พร้อมกำหนดนโยบายและมาตรฐานการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานสำคัญ อาทิ สภาพัฒน์ฯ ธกส. ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน อสม. ฯลฯ เพื่อให้รัฐบาลสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดต่อไป โดยรองนายกรัฐมนตรีสมคิด กำชับให้ประสานหน่วยงานที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลให้เร่งดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว
ทั้งนี้ได้มีการเสนอความก้าวหน้ารัฐบาลดิจิทัลในประเด็นด้านอื่นๆ ดังนี้ ด้านนโยบาย รองนายกรัฐมนตรีสมคิดได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเรื่อง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance for Government: DGF) เพื่อให้สามารถประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา ให้หน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง/กรม ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาให้ข้อมูลของทุกหน่วยงานมีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย สามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ นอกจากนี้ยังได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเป็นประธาน
ด้านงบประมาณ มีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าแผนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ สพร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปข้อเสนองบประมาณฯ ของแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลว่า มีหน่วยงานเสนอโครงการผ่านเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้น 49 โครงการ จาก 51 หน่วยงาน และมีกรอบงบประมาณฯ ที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 4,556 ล้านบาท ซึ่ง สพร. จะดำเนินการนำส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาต่อไป
ด้านโครงสร้างระบบ และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลบุคลากรภาครัฐ ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ (GCIO Committee) เป็นอนุกรรมการภายใต้ คกก. DG ตามข้อเสนอของ สำนักงาน กพ. และรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาทักษะดิจิทัลกับผู้บริหารและบุคลากรภาครัฐแล้วกว่า 30,000 คน ผ่านหลักสูตรสำคัญ อาทิ DG CEO, e-GEP และ DTP เป็นต้น พร้อมเสนอโครงการยกระดับขีดความสามารถบุคลากรภาครัฐสู่ความเป็นดิจิทัล โดยความร่วมมือ ของ สำนักงาน กพ. สำนักงาน กพร. และ สพร. ผ่านรูปแบบ DG Learning Platform โดยจะมุ่งเน้นคนไอทีภาครัฐ เพื่อสร้างตลาดกลางการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น โดยจะมีการประเมินทักษะทั้งก่อนและหลังการเรียน และมีการให้แต้ม (reward) กับบุคลากรภาครัฐที่ผ่านการเข้าอบรมโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
ด้านความก้าวหน้าโครงการสำคัญ ได้เตรียมพัฒนา One-Stop Service (OSS) สำหรับประชาชน โดยอยู่ระหว่างหารือรูปแบบการให้บริการ รวมทั้ง OSS สำหรับชาวต่างชาติ ที่จะพัฒนาบริการในรูปแบบ แอปพลิเคชัน ให้สามารถรายงานตัว 90 วัน กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ทุกที่ ทุกเวลา และเตรียมผลักดันแนวทางการใช้ Digital ID กับบริการของรัฐ รวมถึงแนวทางจัดทำ e-Wallet ร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน นอกจากนี้ มีประเด็นความคืบหน้าการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชนผ่าน Linkage Center ของกรมการปกครอง ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลแล้วมากกว่า 72 หน่วยงาน ให้บริการแล้ว 191 บริการ และมีจำนวนการเชื่อมข้อมูลมากกว่า 35 ล้านรายการ ทั้งนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Exchange: GDX) ของ สพร. ทั้งข้อมูลนิติบุคคล ข้อมูลประชาชน และข้อมูลอื่น ๆ แล้วมากกว่า 60 ล้านรายการ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน รวมถึงลดการใช้เอกสารอื่น ๆ ที่ดำเนินการในรูปแบบดิจิทัลแทน
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโครงการริเริ่มใหม่ด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สพร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้า โครงการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในพื้นที่ EEC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเชื่อมโยงระบบ Biz Portal กับ EEC OSS เข้าด้วยกัน พร้อมจัดทำระบบการจดจัดตั้งธุรกิจ 2 ภาษา และร่วมกับ NECTEC พัฒนา Chatbot รับเรื่องร้องเรียนเพื่อการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น และเมื่อไม่นานนี้ สพร. ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เชื่อมต่อข้อมูลเพื่อให้รพ.และสถานพยาบาลสามารถเช็กประวัติการเดินทางผู้ป่วยที่เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้วตอบข้อซักถามไม่ชัดเจนได้ที่ เว็บไซต์ smarthealth.moph.go.th ทั้งนี้ ประธานฯ ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงาน กพ. เตรียมการณ์ให้พร้อมในกรณีการระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 อาทิแนวทางการให้ข้าราชการทำงานผ่านออนไลน์ที่บ้าน การประชุมออนไลน์ เป็นต้น และให้คำนึงถึงประชาชนที่ต้องตกงานในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วย เช่น การเรียนผ่านออนไลน์ฟรีเพื่อพัฒนาทักษะให้สามารถหางานทำได้ง่ายขึ้น”
และทั้งหมดนี่คือมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันยกระดับการให้บริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะภาครัฐได้โดยสะดวก ดังวิสัยทัศน์ “รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน