24 เม.ย. 2563 5,058 208

ผลโหวต FCC อนุมัติคลื่นกว้าง 1200 MHz ย่าน 6 GHz สำหรับใช้งาน Wi-Fi รองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลโหวต FCC อนุมัติคลื่นกว้าง 1200 MHz ย่าน 6 GHz สำหรับใช้งาน Wi-Fi รองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ก่อนหน้านี้ Ajit Pai ประธาน FCC (Federal Communications Commission) ได้เร่งพิจารณาเปิดใช้งานคลื่น Unlicensed ย่าน 6 GHz เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งาน Wi-Fi ใช้งานอินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัย และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ ได้มากขึ้น โดยมีการโหวต ลงคะแนนในวันที่ 23 เมษายน 2563 เพื่อลงความเห็นให้ใช้คลื่นขนาดกว้าง (Bandwidth) 1200 MHz บนย่าน 6 GHz เพิ่มการรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากของผู้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งเร้าเตอร์ Wi-Fi ไปจนถึงเครื่องใช้ในบ้าน ที่เชื่อมต่อ Wi-Fi หรืออินเทอร์เน็ตได้ ให้สามารถใช้งานคลื่นดังกล่าวได้

WI-FI 6GHz คืออะไร? อธิบายง่ายๆ ตอนนี้คลื่น Wi-Fi มี 2 คลื่นยอดนิยมคือ ย่าน 2.4GHz และย่าน 5GHz วันนี้เราจะพูดถึงย่านที่ 3 คือ 6GHz รองรับการใช้งานที่หนาแน่นได้มากขึ้น แต่อุปกรณ์จะต้องรองรับด้วย

ล่าสุด FCC โหวตให้สามารถนำคลื่นขนาดกว้าง (Bandwidth) 1200 MHz บนย่าน 6 GHz ซึ่งเป็นคลื่นในย่าน unlicensed มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน Wi-Fi 6 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ใช้งานได้เร็วขึ้น 2.5 เท่า ของมาตรฐานปัจจุบัน

ผลการโหวตออกมาแล้ว FCC อนุมัติให้ใช้คลื่น 6GHz กับโทรศัพท์ แท็ปเล็ต อุปกรณ์ wearables และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีเซ็นเซอร์และทำงานร่วมกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งผลการโหวต อนุมัติ 5-0 จากการประชุมออนไลน์

Ajit Pai เปิดเผยว่า การเปลี่ยงแปลงในครั้งนี้ถือเป็นผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญของผู้บริโภค ตอบสนองความต้องการในการเชื่อมต่อมหาศาลในปัจจุบันได้อย่างเต็มที่

หลังการโหวต บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของสหรัฐ อย่าง AT&T Inc มองว่าเป็นการปลดล็อคคลื่น เพราะทุกวันนี้มีการใช้งาน Wi-Fi หนาแน่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง Work From Home ซึ่งเห็นได้ชัดมากๆ ว่ามีการใช้งานหนักสุดๆ แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดคลื่นเพิ่ม ย่อมต้องพิจารณาเรื่องการรบกวนของคลื่น ซึ่ง Pai ก็ยอมรับว่า บริการสาธารณะต่างๆ ล้วนแล้วแต่ป้องกันเรื่องการถูกรบกวนของคลื่นอยู่แล้ว (ยังไงก็ต้องทำ)

แต่การใช้คลื่นนี้ มีผลดี มากกว่าผลเสีย เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับปริมาณการใช้งานบรอดแบนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น ร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ ก็จะให้บริการ Wi-Fi สาธารณะได้ดีขึ้น

รวมไปถึงการนำคลื่น Unlicensed มาใช้ จะช่วยขยายขีดความสามารถในการเชื่อมต่อ รองรับทราฟฟิคสอดคล้องกับการใช้งาน 5G ด้วยเช่นกัน

อย่างที่เรารู้กันว่า ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ที่ต่อ Wi-Fi แต่ยังมีอุปกรณ์ วัดอุณหภูมิ เครื่องฟอกอากาศ กล้องวงจรปิด baby monitors ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้าที่ล้วนแล้วแต่เชื่อมต่อ Wi-Fi ได้

Ajit Pai ประธาน FCC มองว่า การคิดค้นการเชื่อมต่อในปัจจุบัน ทุกอย่างต้องอ้างอิงเรื่อง "low-power" นั่นหมายความว่า ต้องประหยัดแบต ใช้พลังงานน้อยด้วย และสำหรับในสหรัฐ ก็มีการประสานประโยชน์ให้กับคนพิการ รองรับ Virtual Reality gaming แว่น AR ระบบสื่อสารในรถยนต์

ทางฝั่ง ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีอย่าง Facebook Inc ก็ตอบรับความเคลื่อนไหวนี้ พร้อมสนับสนุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และการพัฒนา 5G ในอนาคต นอกจากนี้ Amazon, Facebook และ Apple เตรียมขนอุปกรณ์ใหม่ ๆ รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่และชุดหูฟัง AR / VR ไร้สาย มาให้บริการด้วยเช่นกัน

ส่วนการใช้งาน Wi-Fi นั้นต้องยอมรับว่า หนาแน่นจริงๆ ยิ่งฝั่งบริษัทด้านสาธารณูปโภคเองก็มองเรื่องการใช้ Wi-Fi เช่นกัน ที่สำคัญ การใช้งาน Wi-Fi ภายในปี 2565 จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 60% จากปริมาณการใช้งานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การปลดล็อก การอนุญาตเปิดใช้คลื่นความถี่ 6 GHz จะเพิ่มความสามารถใหม่ๆ ให้กับกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ เช่น  Intel  เตรียมนำชิ้นส่วนอุปกรณ์ติดตั้งในรุ่นใหม่ร่วมกับคู่ค้าได้อีกด้วย

ด้าน สมาชิก Wi-Fi Alliance ทั้ง Aruba, Broadcom, Extreme Networks และ Qualcomm ได้ออกมาชื่นชมและสนับสนุนการดำเนินการของ FCC ในการผลักดันวงการ Wi-Fi 6 ให้เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานให้กับอุปกรณ์ IoT และเป็นส่วนประกอบขั้นพื้นฐานที่สำคัญของเทคโนโลยี 5G เช่นกัน

นอกจากนี้ WiFiForward ได้สำรวจวิจัยข้อมูลดังกล่าวพบว่า การเข้าถึง Wi-Fi ความถี่ 6 GHz ที่มีแบนด์วิธที่กว้าง สามารถเพิ่มความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับวงการอุตสหกรรมอย่างน้อย 183 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 

เชื่อได้เลยว่า หลังจากที่ FCC เคลื่อนไหวในครั้งนี้ ส่งผลต่อการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ 6 GHz ทุกส่วนมีใบอนุญาตรองรับ จะทำให้อุตสหกรรมสามารถได้รับทุนในการสนับสนุนอุปกรณ์ขึ้นมาทันที

โดยปัจจุบัน Wi-Fi ที่เปิดใช้งานอยู่ในย่านสัญญาณคลื่น 2.4 และ 5GHz นั้นไม่เพียงพอ ข้อเสนอใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ การให้บริการคลื่น Wi-Fi ที่มีแบนด์วิธใหม่สามารถให้บริการเพิ่มเติมขนาด 1,200 MHz บนคลื่นความถี่ 6GHz ในเทคโนโลยี Wi-Fi 6E - ทำให้ความถี่ของสัญญาณเพิ่มขึ้นจาก Wi-Fi คลื่นความถี่ 5GHz เดิม นับเป็นการเพิ่มขนาดความถี่ในการให้บริการทั้งหมด พบว่า เสมือนเป็นช่องทางด่วนในการให้บริการอินเทอร์เน็ต

มาดูในฝั่งของประเทศไทย ทีม ADSLThailand ได้สอบถามไปยัง สืบศักด์ สืบภักดี อาจารย์และนักวิจัยด้านโทรคมนาคม และเลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า 

จากการอนุมัติคลื่นขนาด Bandwidth 1200MHz เพื่อใช้งานบน Wi-Fi เพิ่มเติมบนย่านความถี่ 6 GHz ของ FCC นั้น เป็นไปตามแนวโน้มของความต้องการการใช้งานสื่อสารไร้สายที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นไปตามการผลักดันการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะตัวเทคโนโลยี Wi-Fi 6 ส่วนในบ้านเรานั้น จะต้องดูท่าทีของ กสทช. ซึ่งในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ ยังไม่มีการพิจารณาหรือประกาศหลักเกณฑ์เรื่องการใช้งานคลื่นย่าน 6 GHz แบบที่ FCC ดำเนินการ ทั้งนี้การดำเนินการจะต้องมีการศึกษา และพูดคุยกับทุกภาคส่วน ก่อนทำหลักเกณฑ์และจึงไปสู่ขั้นตอนการประกาศใช้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คลื่นที่ประกาศใช้ในลักษณะ unlicensed band ก็ยังมีการใช้งานทั้ง 2.4 GHz และ 5GHz ซึ่ง กสทช. อาจมองว่าคลื่นส่วนที่ประกาศให้ใช้งานแบบ unlicensed band สำหรับเทคโนโลยี Wi-Fi ดังกล่าวยังเพียงพอในการให้บริการ ส่วนการใช้งานบนคลื่นย่าน 6GHz ทาง กสทช. คงจะพิจารณาในอนาคต

ส่วนประเด็นการมองภาพรวมการใช้งานด้านดาต้าในปัจจุบัน ที่มีการ Work From Home เราได้เห็นปริมาณการใช้งานในช่วงกลางวัน ที่เปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทุกโอเปอเรเตอร์ หรือทุก ISP ต่างพยายามดูแลเครือข่ายของตนเองให้ดีที่สุดอยู่แล้ว เพื่อการให้บริการที่ราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการเพิ่มสปีดความเร็วหรือให้ฟรีดาต้าจากแนวทางของ กสทช. ยิ่งทำให้ผู้คน ปรับพฤติกรรมมาเป็นสตรีมมิ่งอย่างเต็มสูบ ทั้งนี้ ประสบการณ์ในการใช้งาน หลายคน อาจพบปัญหาหรือรู้สึกการสื่อสารช้าลงในบางช่วงเวลา แต่ไม่ถึงขั้นสะดุดหรือขาดตอน เนื่องจากแต่ละผู้ให้บริการต่างพยายามบริหารโครงข่ายตามทรัพยากรที่มี ให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนเรื่องการเพิ่มคลื่น 6GHz เพื่อขยายบริการ Wi-Fi ในประเทศไทยนั้น ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยด้วย ซึ่งหากในอนาคตการใช้งานบน 2.4GHz /  5GHz หนาแน่นมากและอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีบนคลื่นใหม่เริ่มเข้ามาในตลาด เรื่องการอนุมัติให้ใช้ย่านความถี่ใหม่ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องของอนาคต  

อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน WI-FI 6E

ที่แน่ๆ ต้องซื้อเครื่องใหม่ เพราะปัจจุบัน รองรับคลื่น 2.4GHz กับ 5GHz ถ้าซื้อใหม่ให้หารุ่นที่รองรับ “Wi-Fi 6” แต่ “Wi-Fi 6” ที่ว่าเนี่ย รองรับคลื่นไหน เป็นคลื่นเก่าหรือเปล่า ดังนั้น จึงควรมองโลโก้ “Wi-Fi 6E” ตัว e คือ “Wi-Fi 6 extended into the 6GHz band” คือใช้คลื่น 6GHz นั่นเอง แต่ทั้งนี้ อุปกรณ์ Wi-Fi 6E ก็รองรับ backward compatible กับเร้าเตอร์เดิมของคุณ ซึ่งถ้าจะใช้ 6GHz ต้องใช้กับเร้าเตอร์ Wi-Fi 6E

ซึ่งการลงมติจาก  FCC  ในการให้บริการ Wi-Fi คลื่นความถี่ 6GHz เชื่อว่าสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า 180,000  ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปีข้างหน้า  ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สามารถเติบโตขึ้นถึง 106,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 

เมื่อความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น เกิดจากการให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-Fi คลื่นความถี่ 6 GHz จะส่งผลดีต่อวงการ Internet of Things และการให้บริการ AR / VR  ทำให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มเม็ดเงินการผลิตอุปกรณ์ที่  69 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และ 8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สร้างรายได้ให้ค่ายผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งหมดมีมูลค่าทางการตลาดคือ 183,440,000,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

จากการประเมินเชื่อว่า การให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศสหรัฐอเมริการสามารถให้บริการบนความเร็วที่เพิ่มขึ้น 137Mbps ณ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่ 280Mbps ภายในปี 2565

bloomberg cnet wifinowglobal wifinowglobal theverge channelnewsasia 

COMMENTS