วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทำให้หลายธุรกิจทรุดหนัก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี หรือ สตาร์ทอัพ ต่างต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้ พร้อมกับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน กองทุน Inno Bridge Fund นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความช่วยเหลือ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สตาร์ทอัพสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางภาวะวิกฤตครั้งนี้ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร
สำหรับกองทุน Inno Bridge Fund และการระดมทุนด้วย “หุ้นกู้แปลงสภาพ” นั้น ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสตาร์ทอัพ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงร่วมมือกับ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเหล่าองค์กรพันธมิตร จัดงานสัมมนา “ROCKET LAUNCHER EP.01 CONVERTIBLE DEBENTURE WEBINAR” ผ่านแพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ True VROOM เจาะลึกประเด็น การระดมทุนรูปแบบใหม่ของสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการระดมทุนด้วยหุ้นกู้แปลงสภาพจากกองทุน Inno Bridge Fund มูลค่า 50 ล้านบาท
ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากหลากหลายภาคส่วนนี้ เป็นส่วนสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพในช่วงวิกฤต ต่อตระกูล วัฒนวรกิจกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงพันธกิจของ อินโนสเปซ (ประเทศไทย) ที่มุ่งยกระดับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกได้ และสามารถไปไกลได้ถึงระดับยูนิคอร์น โดยมีหลายบริษัทร่วมลงทุนและเร่งลงทุนเฉพาะหน้าในสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือเรื่องกระแสเงินสด ด้วยการระดมทุนรูปแบบใหม่ คือ “Convertible Debenture” หรือ “หุ้นกู้แปลงสภาพ” จากกองทุน Inno Bridge Fund วงเงินมูลค่า 50 ล้านบาท ที่ กลต. ได้ออกหลักเกณฑ์ช่วยเหลือสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ SMEs โดยตั้งเป้าช่วยเหลือสตาร์ทอัพ ประมาณ 20 บริษัท บริษัทละไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยพิจารณาคัดเลือกสตาร์ทอัพ ที่มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาในสถานการณ์โควิด-19 เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านการแพทย์ ระบบฐานข้อมูลเพื่อติดตามการแพร่เชื้อ หรือการป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งความช่วยเหลือนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพได้ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศอีกด้วย
ด้านที่มาของการระดมทุนรูปแบบใหม่ ธนพงษ์ ณ ระนอง นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน และ กรรมการบริหาร บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้รายละเอียดว่า ในอดีตการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็กมักใช้การกู้ยืมเงิน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและใช้ระยะเวลานานเพื่อในการตกลงราคาและทำสัญญาซื้อ-ขายที่เป็นธรรม ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่สตาร์ทอัพต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเช่นนี้ จึงมีการแก้ปัญหาด้วยการออก “หุ้นกู้แปลงสภาพ” เครื่องมือการลงทุนใหม่ที่มีลักษณะเหมือนการกู้เงิน โดยมีกำหนดชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการแปลงเป็นหุ้นในธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งมีความแตกต่างจากการกู้ยืมเงินและมีข้อดีคือ เจ้าหนี้หรือนักลงทุนซึ่งมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของบริษัทตามจำนวนหุ้น จะสามารถแปลงสภาพหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญได้ตามสัดส่วนตามช่วงเวลาและราคาที่ตกลงกันไว้ จึงทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อและราคาขาย (Capital Gain) แต่ถ้าหากราคาหุ้นในตลาดยังคงต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในการแปลงสภาพ นักลงทุนสามารถเลือกที่จะไม่แปลงสภาพเป็นหุ้น และถือเป็นตราสารหนี้ต่อไปเพื่อรับดอกเบี้ยแต่ละงวดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนและสตาร์ทอัพ สามารถเจรจากันได้ง่ายขึ้น ประกอบธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น และช่วยให้สตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ในแง่มุมของผู้เสนอให้มีการระดมทุนในรูปแบบใหม่นี้เป็นคนแรกๆ ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ให้ความเห็นว่า สมาคมฯ ได้เสนอปัญหาของการลงทุนสตาร์ทอัพในโครงสร้างหุ้นในด้านแพ่งไปถึงหน่วยงานภาครัฐเมื่อปี 2556 โดยในข้อเสนอดังกล่าวได้รวมถึงเรื่อง Convertible Debenture คือการแปลงหนี้เป็นทุน และทุนเป็นหุ้น จะทำอย่างไร เนื่องจากเห็นว่า สำหรับสตาร์ทอัพการกู้เงินมาทำนวัตกรรมซึ่งมีความเสี่ยงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก การใช้หุ้นกู้แปลงสภาพเป็นเครื่องมือที่ดีและต่างประเทศก็ใช้กัน เนื่องจากสะดวก ดังนั้น จึงต้องขอขอบคุณ ก.ล.ต. ที่ช่วยปลดล็อกเรื่อง Convertible Note ซึ่งทำให้สิ่งที่สมาคมฯ ต้องการผลักดันมีความเป็นไปได้ เกิดความคล่องตัวและทำให้เร็วขึ้น
อีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการระดมทุนรูปแบบใหม่นี้ ไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ ออกหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการหาเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพและ เอสเอ็มอี เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยสัดส่วน GDP ของ SMEs คิดเป็น 42% ของ GDP ทั้งประเทศ จึงควรได้รับโอกาสสนับสนุนที่มากขึ้น โดย ก.ล.ต. ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุน สำหรับผู้ที่ต้องการระดมทุนด้วย “หุ้นกู้แปลงสภาพ” ต้องเป็นสตาร์ทอัพ หรือ เอสเอ็มอีที่เป็นบริษัทจำกัด และได้ลงทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในเรื่องการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ให้สามารถขายหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนประเภทนิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Angel Investor) รวมทั้งสามารถเสนอขายให้แก่กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพได้ โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ลงทุนและมูลค่าการขาย ทั้งนี้ หากเป็นเอสเอ็มอีขนาดกลาง ให้สามารถเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยได้ไม่เกิน 10 ราย และมูลค่าการระดมทุนรวมไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยไม่ต้องยื่นเอกสารต่อ ก.ล.ต. แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญให้ผู้ลงทุนทราบก่อนการเสนอขายและให้รายงานผลการขายต่อ ก.ล.ต. เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ตามความเหมาะสมและความต้องการ
สำหรับขั้นตอนการรับสมัครสตาร์ทอัพ และการพิจารณาของกองทุน Inno Bridge Fund นฤศันส์ ธันวารชร หัวหน้าส่วนบริหารการลงทุน บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีสตาร์ทอัพลงทะเบียนเข้าร่วมการพิจารณาของกองทุนฯ แล้วจำนวนมากกว่า 90 บริษัท โดยคณะกรรมการ การลงทุนของบริษัทฯ กำลังเร่งพิจารณารายละเอียดและคุณสมบัติตามที่กองทุนฯกำหนด โดยจะพิจารณาการให้เงินทุนไม่เกิน 9 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน และต่อรายไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท สำหรับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงบริษัทต่างชาติที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน Inno Bridge Fund ได้ทางเฟซบุ๊ก InnospaceThailand
ทั้งนี้ สำหรับสตาร์อัพที่อาจจะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การคัดเลือกกองทุน Inno Bridge Fund อินโนสเปซ (ประเทศไทย) ยังมีโครงการจัดตั้ง 2 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุน Big Win วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับลงทุนในเทคโนโลยีที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศที่สำคัญ เช่น ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีทางการแพทย์ และ 2.กองทุน Quick Win วงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ใช้สำหรับสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมจะเติบโตและก้าวหน้ามีตลาดรองรับ เพื่อเป็นยูนิคอร์นของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในอนาคต
อีกหนึ่งมุมมองในฐานะภาคเอกชนไทยที่สนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบธุรกิจเทคอย่างต่อเนื่อง ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ในสภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้นำศักยภาพและความแข็งแกร่งของการเป็นศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เดินหน้าพันธกิจโดยมุ่งสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบสำหรับเทคและสตาร์ทอัพในประเทศไทย และช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพ สู้วิกฤตโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง ซึ่งความร่วมมือกับ อินโนสเปซ (ประเทศไทย) และพันธมิตรรายใหม่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้ผสานพลังสนับสนุนให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของธุรกิจให้มากที่สุด มั่นใจว่า กองทุน Inno Bridge Fund จะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพให้ดำเนินธุรกิจอย่างไม่สะดุด และทรู ดิจิทัล พาร์ค จะสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
งานเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมความรู้ เชื่อมโยงเครือข่ายสตาร์ทอัพ และสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพแบบครบวงจร ซึ่งนอกเหนือจากนี้ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ยังมีออนไลน์คอมมูนิตี้สายเทค (TDPK Tech Community) ที่สนับสนุนเหล่าสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจเทครุ่นใหม่ให้ขับเคลื่อนธุรกิจได้ไม่สะดุดแม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยสตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจสามารถติดตามคอนเทนต์หลากหลายผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เป็นแหล่งรวมความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีและดิจิทัล ตลอดจนไลฟ์สไตล์วาไรตี้ รวมทั้งโซลูชันการจัดอีเว้นต์ออนไลน์ ได้ที่ www.truedigitalpark.com
#Truedigitalpark #startupecosystem #Oneroofallpossibilities #covid19