ดีแทคประกาศคุมเข้มมาตรการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero accident) พร้อมออกแนวปฏิบัติและคู่มือปฏิบัติการทำงานในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสิทธิแรงงานไทย เนื่องในวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยประเทศไทย 10 พฤษภาคม
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “การเคารพสิทธิแรงงานเป็นหนึ่งในคุณค่าที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยตระหนักถึงความเท่าเทียมกันในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ ดีแทคมีเป้าหมายในการยกระดับและส่งเสริมสิทธิของพนักงานตลอดจนซัพพลายของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงานภายในบริษัท คู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างผลกระทบทางบวกแก่สังคม ตลอดจนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน”
ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในประเด็นที่ดีแทคให้ความสำคัญ โดยกำหนดอยู่ในดีแทคธรรมภิบาล และเพื่อให้สอดคล้องกับคุณค่าหลักของบริษัทในเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยตั้งเป้าลดการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero accident) โดยดีแทคได้ออกนโยบายและมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานสำหรับธุรกิจในทุกประเภทกิจการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ข้อสำคัญดังนี้
1. จัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องหลักปฏิบัติของบริษัทคู่ค้า (Supplier Conduct Principles: SCP) โดยให้ความสำคัญในเรื่องการทำงานอย่างปลอดภัย อาทิเช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล รวมถึงการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
2. จัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทคู่ค้าในการสำรวจ ตรวจประเมินและให้ความรู้และคำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นงานสร้างเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ หรืองานติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการทำงานให้ดีแทค
นอกจากนี้ ดีแทคยังมีการติดตามผลการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะจากการเข้าตรวจประเมินหน้าไซต์งานหรือโรงงานเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้จะไม่ได้ร่วมธุรกิจกับดีแทคแล้วก็ตาม
สำหรับในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้น ดีแทคได้กำหนดมาตรการเฉพาะขึ้น โดยมอบสิทธิประกันคุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 แก่พนักงานทุกคน ขณะที่ผู้รับเหมาทุกรายต้องจัดทำเอกสารยืนยันการเดินทางไปประเทศเสี่ยงและสัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ (certificate letter on COVID-19) แจกหน้ากากชนิดผ้าและเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือให้แก่ทีมงานผู้รับเหมาในการเข้าปฎิบัติงานแต่ละจุดของการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งจัดทำแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Business Continuity Plan: BCP)
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยประเทศไทย” เพื่อรำลึกและส่งเสริมสิทธิแรงงาน อันเนื่องมาจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่น ในปี 2536 โดยนับเป็นความสูญเสียแรงงานครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต 188 ราย บาดเจ็บ 469 คน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถในการช่วยเหลือชีวิตกันเองของพนักงานต่ำ โรงงานก่อสร้างโดยไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัยและไม่มีสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉิน ไม่มีการซ้อมอพยพหนีไฟ และฝ่าฝืนคำสั่งให้แก้ไขของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน