เทคโนโลยี 5G โอกาสใหม่สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถสรุปจุดเด่นด้านการใช้งานของ 5G เป็น 3 แกนหลัก เพื่อให้มองเห็นภาพ คือ “การสื่อสารไร้สายความเร็วสูง การสื่อสารกับอุปกรณ์จำนวนมาก และการเชื่อมต่อที่เสถียรและตอบสนองไว” โดยความเร็วของ 5G นั้นสูงถึง 20 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G การมาของเทคโนโลยี 5G ไม่เพียงมีผลต่อผู้คนและสังคมโดยทั่วไป แต่ยังมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาและการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ยานยนต์ การขนส่ง สิ่งก่อสร้าง พลังงาน การเงิน สุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิต ความบันเทิง ความมั่นคงปลอดภัย ฯลฯ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีไร้สาย 5G จะเข้ามาพลิกประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจระดับโลกที่จะเป็นตัวเร่งให้ผู้นำและผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ปรับตัวสู่ความเป็นดิจิทัล เพื่อก้าวให้ทันในทศวรรษ และอยู่รอดในวิกฤติเช่นนี้
วรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด ได้กล่าวว่า ธุรกิจที่ดูเหมือนจะไปได้ดีที่สุดในช่วงวิกฤติโควิด-19 เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการจัดการการขนส่งที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ การใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จึงมีบทบาทสำคัญในการอยู่รอดมิใช่น้อย ทั้งในด้าน การเชื่อมต่อพัสดุ โกดังสินค้า บุคลากร ยานพาหนะ และอุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในด้านการขนส่ง เช่น การควบคุมรถจากระยะไกลแบบไร้คนขับ โดยข้อมูลต่าง ๆ จะถูกส่งผ่าน 5G กลับมาที่ผู้ควบคุมรถได้ทันที การใช้ระบบป้องกันความปลอดภัยในการขับขี่ด้วยกล้อง Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) คือการนำภาพวิดีโอมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ เพื่อแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบพฤติกรรมเสี่ยงทั้งจากผู้ขับขี่และสภาพแวดล้อมภายนอก และการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับรถยนต์ที่เรียกว่า Vehicle-to-Vehicle (V2V) ซึ่ง 5G จะช่วยรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง มีการตอบสนองที่รวดเร็วและมีความเสถียรของระบบสูง ทำให้รถยนต์ 2 คันสามารถสื่อสารได้ว่าอยู่ที่ตำแหน่งใด มีความเร็วเท่าไร มุ่งไปในทิศทางใด จากนั้นรถยนต์คันอื่นที่อยู่ในบริเวณเดียวกันสามารถอ่านข้อมูลเหล่านี้จากเซ็นเซอร์เพื่อรับรู้ตำแหน่งของรถร่วมถนน และแจ้งเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าหากมีแนวโน้มว่ารถจะชนกัน จึงช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในเส้นทาง ช่วยให้การขนส่งมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การระบุตัวตนพนักงาน การประสานงานยานพาหนะ-ถนน การตรวจสอบตู้สินค้า คลังสินค้าดิจิทัล และการขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยการใช้หุ่นยนต์และโดรน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ 5G จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากนั่นคือ อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ (Healthcare) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบการให้บริการที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่วิกฤติโควิด-19 เข้ามาทำให้การบริการด้านการแพทย์และการให้บริการด้านสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
วิชัย แสงหิรัญวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลบเทค จำกัด ได้กล่าวว่า อาวุธทรงอานุภาพอย่าง 5G จะเป็นตัวเร่งสำคัญที่จะเข้ามาช่วยทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ จากอัตราการรับส่งข้อมูลที่สูงขึ้น เวลาในการตอบสนองที่ลดลง การประหยัดพลังงาน การลดต้นทุน และความจุของระบบ รวมถึงสามารถจัดการกับอุปกรณ์ IoT หลายพันชิ้นพร้อมกัน อุปกรณ์เหล่านี้จะก่อให้เกิดความสามารถใหม่ ๆ จากการรับ-ส่ง ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Information) ได้ โดยข้อมูลเหล่านั้นสามารถจัดเก็บไว้ในประวัติติสุขภาพ และส่งต่อไปยังผู้ให้บริการสุขภาพที่เปิดสิทธิอนุญาตการเข้าถึงด้วยความยินยอม ทำให้เกิดความรวดเร็วในการเข้าพบแพทย์ การวินิจฉัยต่าง ๆ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แพทย์ยังสามารถเข้าถึงติดตามผลพฤติกรรมสุขภาพ กิจกรรมของคนไข้ในความดูแลถึงการปฏิบัติตัวและการดูแลสุขภาพตามคำแนะนำ
เทคโนโลยี 5G ที่มีความรวดเร็วในการรับ - ส่ง ข้อมูล แบบไร้ความหน่วงนั้นทำให้คำว่า Real-Time เกิดขึ้นจริง การดูแลรักษาผู้ป่วยจึงเกิดขึ้นได้จากทุกที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น แพทย์สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการประชุมทางวิดีโอเพื่อให้การรักษาที่เรียกว่า ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ทันทีทันใด ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการช่วยรักษาอาการเบื้องต้น ลดอัตราการเสียชีวิตระหว่างนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ ขณะเดียวกันทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางก็สามารถเตรียมพร้อมการรักษาได้รวดเร็ว นอกจากนี้ในกลุ่ม Wellness Clinic ที่ให้บริการสุขภาพแนวใหม่เน้นการพักผ่อนและการป้องกันก่อนป่วยเน้นการดูแลในระยะยาวก็มีแนวโน้มการเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยสามารถจัดโปรแกรมพิเศษดูแลเฉพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงวัย การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพ และการทำงานของร่างกายกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวัน สามารถนำไปวิเคราะห์โอกาสในการเกิดโรค (Predictive Analytics) เพื่อเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงก่อนเจ็บป่วยผ่าน Platform สุขภาพต่าง ๆ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT หลาย ๆ อุปกรณ์ในพื้นที่เดียวกันต้องอาศัยเทคโนโลยีในการจัดการข้อมูล ซึ่งเรียกว่า Cloud Computing เนื่องจากอุปกรณ์ IoT บางประเภทมีความต้องการในการประมวลผล แต่ตัวของมันไม่สามารถประมวลผลได้เอง การส่งข้อมูลเพื่อประมวลผลและวิเคราะห์ด้วย AI และ Big data Analytics บนอินเทอร์เน็ตผ่าน Cloud จึงจะสามารถช่วยประมวลผลข้อมูลจำนวนมากที่เกิดจากอุปกรณ์ IoT เหล่านี้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ต่อไป นั่นหมายความว่า 5G อาจเป็นทางเลือกและทางรอดของธุรกิจ ก็เฉพาะธุรกิจที่มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งนี่ก็อาจเป็นคำตอบที่ว่า ทำไม ธุรกิจจึงจำเป็นต้องรีบปรับตัวสู่โลกธุรกิจยุคดิจิทัลอย่างจริงจังเสียที