ประเด็นสำคัญ:
1) อาลีเพย์ (Alipay) รั้งตำแหน่งผู้นำตลาดบริการชำระเงินผ่านมือถือ (Mobile Payment) ในจีน โดยครองส่วนแบ่งตลาด 55.4% ตามมาด้วยอันดับที่สอง Tenpay ซึ่งครองส่วนแบ่ง 38.8% (Tenpay = WeChat Pay ของ Tencent + QQ Wallet) รายงานก่อนหน้านี้ของ iResearch ชี้ว่าอาลีเพย์มีส่วนแบ่งตลาดโมบายล์เพย์เมนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 (หมายเหตุ: รายงานก่อนหน้านี้ของ iResearch สามารถดูได้จากที่นี่ (เป็นภาษาจีนเท่านั้น) ไตรมาส 1 ปี 2562, ไตรมาส 2 ปี 2562, ไตรมาส 3 ปี 2562, ไตรมาส 4 ปี 2562, ไตรมาส 1 ปี 2563)
2) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านมือถือทั้งหมดในจีนลดลงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยอยู่ที่ 53.2 ล้านล้านหยวน (หรือ 235 ล้านล้านบาท) ลดลง 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ iResearch คาดการณ์ว่ายอดธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
3) iResearch ชี้ว่า ในประเทศจีน โอกาสการเติบโตในอนาคตขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ให้บริการชำระเงินในการนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจรสำหรับ “การชำระเงิน + เทคโนโลยี” ให้แก่ลูกค้าแทนที่จะแข่งขันกันเฉพาะในส่วนของยอดชำระเงิน
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาลีเพย์ได้ประกาศแผนดำเนินงาน 3 ปี สำหรับการสนับสนุนโครงการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ของผู้ให้บริการ 40 ล้านรายในจีน โดยจะจัดหาแพลตฟอร์มบริการด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร รวมถึงแอพที่จะช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาผู้ให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว
จากการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับส่วนแบ่งตลาดโมบายล์เพย์เมนต์ผ่านทาง LinkedIn อาลีเพย์กล่าวว่า “บริการชำระเงินไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย (End game) แต่เป็นจุดเริ่มต้นของบริการที่หลากหลายที่จะช่วยเติมเต็มการใช้ชีวิตประจำวันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสำหรับธุรกิจบริการ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ แทนที่จะโฟกัสแค่เรื่องส่วนแบ่งตลาดบริการชำระเงิน” ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโมเดลธุรกิจของอาลีเพย์มีการพัฒนาต่อยอดจากการจัดหาโซลูชั่นการชำระเงิน ไปสู่การนำเสนอชุดเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจร รวมถึงระบบชำระเงินแก่ผู้ให้บริการ
ข้อมูลและสถิติการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของอาลีเพย์
คูปองดิจิทัล: ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป อาลีเพย์จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ให้บริการสำหรับการแจกคูปองดิจิทัลมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านหยวน หรือ 44,500 ล้านบาท แก่ประชาชนทั่วประเทศ ด้วยระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ธุรกิจรายย่อยและพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปจะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคูปองดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย และดึงดูดผู้บริโภคที่ใช้มือถือเป็นประจำ โดยคูปองดิจิทัลที่มีมูลค่าน้อยที่สุดให้ส่วนลด 20% สำหรับยอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 10 หยวน (45 บาท) โครงการนี้เริ่มเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 1 ล้านรายจนถึงวันที่ 22 มิถุนายน
มินิโปรแกรมของอาลีเพย์: ในปัจจุบัน มีมินิโปรแกรมกว่า 2 ล้านโปรแกรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของอาลีเพย์ ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 600 ล้านคนต่อเดือน จำนวนมินิโปรแกรมของอาลีเพย์สร้างขึ้นโดยผู้ให้บริการด้านการศึกษา การฝึกอบรม โรงแรม ท่องเที่ยว และสุขภาพ มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์สไตล์ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทจัดการสินทรัพย์ และบริษัทประกัน
จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ผู้บริหารสถานที่ท่องเที่ยวราว 1,000 แห่งได้ใช้ชุดโซลูชั่นดิจิทัลแบบครบวงจรของอาลีเพย์เพื่อจัดตั้งสำนักงานสาขาดิจิทัลบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้ง “ก่อน” “ระหว่าง” และ “หลัง” การเดินทาง เช่น การจองตั๋วและโรงแรมผ่านระบบออนไลน์แบบ contactless การแจกคูปองดิจิทัล การให้คำแนะนำผ่านระบบเสียง การชำระเงินผ่านมือถือ และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มินิโปรแกรมของอาลีเพย์ช่วยให้ผู้บริหารสถานที่ท่องเที่ยวสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และมอบประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
โรงแรมกว่า 25,000 แห่งเปิดหน้าร้านเสมือนจริงบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ เพื่อนำเสนอบริการแบบครบวงจรสำหรับผู้ใช้ ทั้งในส่วนของการจองห้องพัก การเช็คอิน การเรียกเก็บเงิน การคมนาคมขนส่ง บริการอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรมกว่า 25,000 แห่งแจกบัตรสมาชิกบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ โดยในช่วงสองสัปดาห์จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน จำนวนสมาชิกของเครือโรงแรมขนาดใหญ่ 26 แห่งเพิ่มขึ้น 361% และสมาชิกเหล่านี้มียอดใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของทางโรงแรม ตัวอย่างเช่น BTG Homeinns Hotels Group หนึ่งในเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในจีน มียอดสมาชิกใหม่ที่ได้รับผ่านทางอาลีเพย์รวม 1 ล้านราย ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
บริษัทรับสมัครงานรายสำคัญ 4 บริษัท ได้แก่ zhaopin.com, liepin.com, doumi.com และ qtshe.com ได้เปิดตัวมินิโปรแกรมบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ นำเสนอตำแหน่งงานจากกว่า 1,000 บริษัทในกว่า 600 กลุ่มอุตสาหกรรม จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม จำนวนผู้ใช้ที่หางานบน อาลีเพย์ในแต่ละวันเพิ่มขึ้น 10 เท่าในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน
หน่วยงานปกครองของเมืองต่างๆ กว่า 300 เมือง และเทศบาลกว่า 400 แห่งในจีน เปิดตัวมินิโปรแกรมบนระบบอาลีเพย์ เพื่อให้บริการสาธารณะผ่านช่องทางดิจิทัลแก่ประชาชน เช่น การเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย และการออกใบรับรอง โดยผู้ใช้สามารถใช้บริการได้อย่างง่ายดายเพียงแค่แตะหน้าจอโทรศัพท์ไม่กี่ครั้ง และไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่หน่วยงานโดยตรง
อาลีเพย์ร่วมมือกับสถาบันการเงินกว่า 700 แห่งในจีนและประเทศอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีของอาลีเพย์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเงินสำหรับพันธมิตร
เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทั้งหมดในภาคธุรกิจบริการ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงธนาคารต่างๆ รีบเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัลกันอย่างกว้างขวาง โดยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา จำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านโมบายล์แบงค์กิ้งและโมบายล์คอมพิวติ้งของ Ant Group เพิ่มขึ้นถึง 175% และในช่วงเวลาเดียวกัน การสอบถามข้อมูลจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีของ Ant Group มีจำนวนเพิ่มขึ้น 400% นอกจากนั้น รายงานของ Forrester Research ระบุว่า เทคโนโลยี SOFAStack ของ Ant Group ช่วยให้ PICC Health และ MYbank ประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 100 ล้านหยวน หรือ 445 ล้านบาท ในเวลา 3 ปี ทั้งนี้ Ant Group ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรสำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มากที่สุดในโลก 4 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และได้ปรับใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนของบริษัทฯ สำหรับโครงการต่างๆ กว่า 50 โครงการ โดยสามารถรองรับบัญชีผู้ใช้งานราว 1 พันล้านบัญชี ซึ่งทำธุรกรรมราว 1 พันล้านรายการต่อวัน Ant Duo Chain ซึ่งเป็นโซลูชั่นด้านการเงินสำหรับซัพพลายเชนที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนของ Ant Group รองรับการใช้งานของบริษัทต่างๆ กว่า 30,000 บริษัท โดยช่วยเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทเหล่านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 อาลีเพย์ประกาศจัดตั้งบริษัทอิสระเพื่อนำเสนอ OceanBase ซึ่งเป็นโซลูชั่นฐานข้อมูลแบบ distributed ที่สามารถพัฒนาตัวเองโดยผ่านการทดสอบการใช้งานจริงในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ที่ครอบคลุมทั่วโลก และถูกใช้งานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเพื่อยกระดับการดำเนินงานของลูกค้ารายสำคัญๆ ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม