ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า โครงการ STARTUP Thailand เริ่มต้นในปี 2559 เกิดขึ้นตามที่รัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ให้เป็นนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมมอบให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ในการสร้างความตระหนักและการรับรู้ จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ สู่กระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนการเร่งรัดธุรกิจสู่ตลาดสากล
ที่ผ่านมา กระทรวง อว. โดย NIA ได้พัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้น ตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัย 39 แห่งทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันอาชีวศึกษากว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศไทย ได้สร้างแนวคิด แผนงานธุรกิจ และนวัตกรรมใหม่ๆ ของวิสาหกิจเริ่มต้นเป็นจำนวนกว่า 1,500 ราย และในปีนี้ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราได้เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน Pitching เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ นับเป็นมิติใหม่แห่งการแข่งขัน Pitching ผ่านระบบ Zoom พร้อมกันมากถึง 390 ทีม ในระยะเวลา 2 วัน คือวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2563 และมี 10 ทีม ที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศของ STARTUP THAILAND League 2020 ระดับประเทศ โดยผู้ชนะเลิศ อันดับ 1-3 จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท, 30,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ
ปริวรรต กล่าวทิ้งท้ายว่าสำหรับน้องๆ ทั้ง 390 ทีม ที่ได้นำเสนอแผนงานธุรกิจไปแล้ว จะได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ รวม 200 ทีม ให้ได้รับทุนสนับสนุน ทีมละ 25,000 บาท เพื่อจัดทำผลงานต้นแบบนำเสนอในงานแสดงผลงาน (Showcases) ที่ NIA จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นอีกเวทีสำคัญในการจัดแสดงแผนงานธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของจริง เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนต่อไป และถือเป็นโอกาสสำคัญของการก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าของทุกคน
โดย ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Happy Grocers จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
จาก sector: เกษตรและอาหาร (AgriTech/ Food Startup)
รายละเอียด : ร้านขายของชำออนไลน์ สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ และไม่สร้างขยะ
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Automa จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจาก sector: การแพทย์และสาธารณสุข (MedTech/ Health Tech
รายละเอียด: Zoocial หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยง ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ตอบสนองกับเจ้าของ ด้วยระบบ Artificial Hormones และเป็นตัวช่วยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการสื่อสารและสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของลูกๆ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทีมรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Termtem จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจาก sector: อสังหาริมทรัพย์ (Property Tech)
รายละเอียด: Termtem delivery refill service บริการรีฟิลผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดถึงที่พัก โดยที่บริการของเรานอกจากจะได้ช่วยโลกแล้ว ยังให้ความสะดวก ความสะอาด และความประหยัดกับผู้ที่มาใช้บริการอีกด้วย