สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวถึงที่มาของ MOU ในครั้งนี้ว่า “DGA มีบทบาทและหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐสามารถให้บริการสาธารณะในช่องทางดิจิทัลได้ โดยมีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น ทั้งสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณะและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จึงเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันที่สำคัญเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบนิเวศของนวัตกรรมด้าน GovTech อย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเข้าใจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตรวจสอบด้วย AI นี้ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
โดยการนำ “ต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบ” นี้จะใช้ข้อมูลจากงานวิจัยและการประมวลผลภาษาธรรมชาติหรือ Natural language processing (NLP) ซึ่งเป็นวิทยาการแขนงหนึ่งในหมวดหมู่ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจ ตลอดจนตีความและใช้งานภาษาปกติที่มนุษย์ใช้สื่อสารได้
ทั้งนี้ เทคโนโลยี NLP จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทางด้านวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เช่น ข้อมูลทางการเงิน การคลัง ข้อมูลการใช้จ่ายเงินงบประมาณและข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้าง โดย AI จะประมวลผลจากคำสั่งต่างๆ เช่น keyword จากงานตรวจสอบที่เคยมีอยู่เดิม ประเด็นหรือข้อมูลวิเคราะห์ต่างๆ หรือข้อมูลเสนอแนะจากแนวทางที่ใกล้เคียง เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำรายงานเสนอแนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ ตลอดจนติดตามผลการตรวจสอบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้งานด้านการตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการแจ้งเตือนเพื่อประโยชน์ในเชิงป้องกันการทุจริต และส่งเสริมความโปร่งใสตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งผลที่ได้จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาด้าน AI และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้งานกับกระบวนการขั้นตอนดำเนินการ หรือการให้บริการ ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน DGA ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และ ผู้ประกอบการนวัตกรรมดิจิทัล มากกว่า 30 แห่ง โดยจะผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรหลักภาครัฐเพื่อผลักดันและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (GovTech) ผ่านศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ หรือ Digital Government Technology and Innovation Center : DGTi ทั้งเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้ใช้นวัตกรรม รวมทั้งความร่วมมือกับภาคการศึกษาและสมาคมผู้ประกอบการหรือเกี่ยวข้องกับด้านนวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ ในการแสวงหานวัตกรรมทั้งจากวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมดิจิทัลสำหรับภาครัฐ”
ด้าน ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการตรวจสอบ จึงได้ร่วมมือกับ DGA และ สวทช.โดย NECTEC ในการศึกษา วิจัย และพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ทางการเงิน การคลัง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งสัญญาณเตือนและกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐได้อย่างเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ โดยเริ่มโครงการนำร่อง จากงานตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) ซึ่งเป็นการตรวจสอบว่าการดำเนินกงานตามแผนงาน หรือโครงการ เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และนำร่องการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับในด้านการสนับสนุน DGA และ สวทช. โดย NECTEC จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาให้หน่วยงานภาครัฐใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพขององค์กรในภาพรวม นับเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะให้การสนับสนุนทั้ง 2 หน่วยงานในการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าวอย่างเต็มที่”