31 ก.ค. 2563 2,532 14

CISCO เผยการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ “ดิจิทัล” ของเอสเอ็มอี จะเพิ่มมูลค่า 41,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับจีดีพี ภายในปี 2567 และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยรวม

CISCO เผยการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ “ดิจิทัล” ของเอสเอ็มอี จะเพิ่มมูลค่า 41,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับจีดีพี ภายในปี 2567 และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยรวม

การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีในไทยจะเพิ่มมูลค่า 35,000 ถึง 41,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับจีดีพีของไทย ภายในปี 2567 และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามผลการศึกษาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific SMB Digital Maturity Study) ประจำปี 2563

การศึกษาดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งดำเนินการโดย International Data Corporation (IDC) โดยได้รับมอบหมายจากซิสโก้  ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมทางด้านดิจิทัลมากกว่าจะได้รับประโยชน์สองเท่าในแง่ของรายได้ และผลผลิตเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของไทย  ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วน 85.5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดในไทย และสร้างมูลค่าให้จีดีพีถึง 43%  ด้วยเหตุนี้ เอสเอ็มอีจึงมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตหลังวิกฤตโควิด

ผลการศึกษาอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอีชี้ว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของเอสเอ็มอีในไทยมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล เพื่อสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ ขณะที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจเอสเอ็มอี ตระหนักว่าคู่แข่งกำลังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล และพวกเขาต้องก้าวตามให้ทัน ขณะที่อีก 23 เปอร์เซ็นต์กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเพราะลูกค้าต้องการ

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า “ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีเหล่านี้ยังมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ หนึ่งในวิธีที่เราเห็นมากในช่วงโควิดก็คือ เอสเอ็มอีมีการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นช่วงแพร่ระบาด ขณะที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมและข้อจำกัดบางอย่าง และผู้บริโภคเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติอีกครั้ง การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ของเอสเอ็มอีจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูธุรกิจ และช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ซิสโก้มุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโดยอาศัยโซลูชั่นดิจิทัล และกลยุทธ์ที่เหมาะสม”

ผลการศึกษาระบุว่า การจัดซื้อหรืออัพเกรดซอฟต์แวร์ไอที (20 เปอร์เซ็นต์) เป็นการลงทุนที่เอสเอ็มอีไทยให้ความสำคัญมากที่สุด ตามมาด้วยการจัดซื้อและอัพเกรดฮาร์ดแวร์ไอที (15 เปอร์เซ็นต์) และการลงทุนในคลาวด์ (11 เปอร์เซ็นต์)

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายเฉพาะหน้าในหลายๆ เรื่อง โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลและการเข้าถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ (20 เปอร์เซ็นต์) เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล รองลงมาได้แก่ การไม่มีโรดแมพในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล (18 เปอร์เซ็นต์) และการขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น (15 เปอร์เซ็นต์)

พิธาน รอย กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจขนาดเล็กประจำเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีนของซิสโก้ กล่าวว่า “ตอนนี้นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ได้รับประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ทุกภาคส่วนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเผชิญ ทั้งในส่วนของภาครัฐ สถานศึกษา บริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม เพราะไม่มีองค์กรใดสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้โดยลำพัง ที่ซิสโก้ เราภูมิใจที่เรามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ในแง่ของการพัฒนาบุคลากร Cisco Networking Academy ได้ฝึกอบรมบุคลากรกว่า 2.5 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านไอซีทีที่หลากหลาย นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งสถาบัน  และในส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เราได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่คัดสรรเป็นพิเศษสำหรับเอสเอ็มอีภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์ Cisco Designed

สำหรับเอเชีย-แปซิฟิก การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีจะเพิ่มมูลค่า 2.6 - 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 80 – 100 ล้านล้านบาทให้กับจีดีพีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกภายในปี 2567  ทั้งนี้ ข้อมูลคาดการณ์ของไอดีซีระบุว่า จีดีพีของเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตประมาณ 10.6 - 14.6 ล้านล้านดอลลาร์ และการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของการเติบโตดังกล่าว

ผลการศึกษาเน้นย้ำว่า เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิกกำลังเร่งการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19  นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 86 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจเพื่อสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคตได้ ดังเช่นกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้ว่าจะมีปัญหาท้าทายต่างๆ แต่เอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้ยังคงมีความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล โดยผลการศึกษาชี้ว่า ปัจจุบัน 16 เปอร์เซ็นต์ของเอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้มีความพร้อมด้านดิจิทัลขั้นสูง (ขั้นที่ 3 และ 4) เปรียบเทียบกับ 11 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562  นอกจากนี้ เอสเอ็มอีมากกว่าครึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในระดับหนึ่ง และอยู่ในสถานะของ Digital Observer (ขั้นที่ 2) และมีเอสเอ็มอีเพียง 31 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังคงตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดในลักษณะเชิงรับ และแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (ขั้นที่ 1)

ภายในภูมิภาคนี้ เอสเอ็มอีในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ยังคงเป็นผู้นำในกลุ่ม Digital Observer โดยการจัดอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2562  อย่างไรก็ตาม จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และไทยได้แซงหน้าเกาหลี ฮ่องกง และมาเลเซียตามลำดับ  นอกจากนี้ เอสเอ็มอีในอินโดนีเซียและเวียดนามมีความคืบหน้าในการดำเนินงานปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด

แดเนียล-โซอี จีเมเนซ ผู้ช่วยรองประธาน ฝ่ายวิจัยด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นและเอสเอ็มอีของไอดีซี กล่าวว่า “การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลถือเป็นภารกิจที่จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต  สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เอสเอ็มอีต้องเปลี่ยนย้ายไปสู่ระบบดิจิทัล โดยจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น  ในการปรับเปลี่ยนระบบงานธุรกิจ การดำเนินงาน และการให้บริการแก่ลูกค้า เอสเอ็มอีมักจะให้ความสำคัญกับบริการคลาวด์และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอันดับแรก และขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญมากขึ้นกับเรื่องประสบการณ์ของลูกค้า การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ และโซลูชั่น AI/ระบบวิเคราะห์ข้อมูล  เนื่องจากสภาพตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาอย่างฉับไว ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงควรทำงานกับพันธมิตรอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี และประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล”

การศึกษาในปีนี้เป็นการติดตามผลจากรายงานดัชนีความพร้อมทางด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอี (SMB Digital Maturity Index) ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจสถานะการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  ส่วนการศึกษาของปี 2563 มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการของเอสเอ็มอีสำหรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล รวมถึงผลกระทบของการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การผลักดันกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ

ข้อมูลเพิ่มเติม:

บล็อกโดยพิธาน รอย: ข้อมูลเชิงลึกสำคัญ 5 ข้อในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2563

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชั่น Cisco Designed สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

เกี่ยวกับระเบียบวิธีการจัดทำผลการศึกษา

การศึกษาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific SMB Digital Maturity Study) ประจำปี 2563 รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1,400 รายใน 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อสำรวจปัญหาท้าทายและโอกาสที่บริษัทเหล่านี้ต้องเผชิญในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)  14 ประเทศที่ทำการสำรวจได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน และเวียดนาม

ดัชนีความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอี (SMB Digital Maturity Index) ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ด้านดิจิทัลและองค์กร กระบวนการดิจิทัลและการกำกับดูแล เทคโนโลยีดิจิทัล และบุคลากรดิจิทัลและทักษะ แต่ละด้านเกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และสามารถใช้เป็นดัชนีตรวจวัดความพร้อมสำหรับแง่มุมที่เฉพาะเจาะจงของส่วนงานธุรกิจ รวมถึงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และใช้กำหนดเป้าหมายสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล

ความพร้อมด้านดิจิทัลมี 4 ขั้นดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 – Digital Indifferent: บริษัทที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดในลักษณะเชิงรับ และไม่มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล

ขั้นที่ 2 – Digital Observer: บริษัทที่เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล แต่ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และเป็นโครงการขนาดเล็ก

ขั้นที่ 3 – Digital Challenger: บริษัทที่มีกลยุทธ์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และตอบสนองต่อตลาดในลักษณะเชิงรุก

ขั้นที่ 4 – Digital Native: บริษัทที่มีกลยุทธ์ด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างครบวงจร และมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

COMMENTS