6 ส.ค. 2563 3,786 104

เจาะลึก Thailand IX ยกระดับให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่ปิดกั้น เข้าถึงคอนเทนต์ชั้นนำได้อย่างรวดเร็ว

เจาะลึก Thailand IX ยกระดับให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่ปิดกั้น เข้าถึงคอนเทนต์ชั้นนำได้อย่างรวดเร็ว

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ปรับกลยุทธ์ รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Internet Exchange) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคดิจิทัล และหลังวิกฤติโควิด 19 ที่ผู้บริโภคปรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อเว้นระยะห่างทางกายภาพ สู่ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผ่านโลกออนไลน์โดยพร้อมเชื่อมโยงคอนเทนต์ชั้นนำบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่าน Thailand IX ก้าวสู่การเป็น ASEAN Digital Hub

อุบลพรรณ ชื่นชม ผู้จัดการฝ่ายบริการหน่วยงานผู้ประกอบการ CAT กล่าวกับ ADSL Thailand เจาะลึกการให้บริการ Thailand IX แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับ lifestyle ของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในแง่มุมต่าง ๆ

"อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ในประเทศไทย มีการเชื่อมต่ออยู่ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1. อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ เรียกว่า International Internet Gateway (IIG) เพื่อเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตทั่วโลก  และ 2. อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ เรียกว่า National Internet Gateway (NIX) จะเชื่อมโยงข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือ Thailand IX ในปัจจุบัน โดยนอกจากจะเชื่อมต่อเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้งหมดแล้ว ยังมีการเชื่อมกับผู้ให้บริการคอนเทนต์ชั้นนำโดยตรง ทำให้การเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ของตนเองได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

Thailand IX กับการก้าวสู่ Digital Era ของภูมิภาค 

Thailand IX จะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต และคอนเทนต์ที่เข้ามาให้บริการอยู่ในประเทศไทย ที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งเดิมจะต้องเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ แต่เมื่อแนวโน้มผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและคอนเทนต์รายใหญ่เริ่มเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปเชื่อมต่อจากต่างประเทศ แต่เชื่อมต่อผ่าน Thailand IX เพียงจุดเดียวก็สามารถเชื่อมโยงการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในไทยทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งความเร็วและต้นทุนที่ลดลงอย่างมาก

ซึ่งในประเทศต่างๆ ก็มีการให้บริการ Internet Exchange เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตภายในประเทศระหว่างกันและกัน ทำให้ไม่ต้องดึงข้อมูลในระยะทางไกล อาทิเช่น การเชื่อมต่อไปยังสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นทางของแอปพลิเคชันและคอนเทนต์หลักเหมือนในอดีต แต่สามารถเชื่อมต่อจากจุดบริการใกล้ๆ เช่น Internet Exchange ที่ประเทศสิงคโปร์ หรือฮ่องกง ทำให้เข้าถึงคอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในอีกด้านหนึ่ง Thailand IX ยังเป็นตัวผลักดันธุรกิจคอนเทนต์ของไทยให้เติบโตในตลาดเพื่อนบ้านอย่างกลุ่มประเทศ CLMV คือ ประเทศ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งมีความสนใจในคอนเทนต์ของไทยโดยเฉพาะคอนเทนต์ด้านสื่อและธุรกิจบันเทิง โดย Thailand IX ได้ทำให้คุณภาพการเข้าถึงคอนเทนต์เหล่านี้มีความรวดเร็ว เนื่องจากมีเส้นทางที่สั้นที่สุด

และล่าสุด กับวิกฤติการ COVID-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กันของคนในสังคม จะใช้วิธีการเชื่อมโยงกันบนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยซึ่งมีแนวโน้มที่จะพัฒนาวิธีใหม่ ไปในระดับที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ  สิ่งหนึ่งที่เห็นคือมีการใช้ Social Media เพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย  

สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ความต้องการเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง Thailand IX ได้พัฒนาระบบโครงข่ายให้รองรับการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการฯ ที่จะเพิ่มขึ้น ได้อย่างไม่จำกัด

Exchange ซื้อมา-ขายไปของคอนเทนต์ทั่วโลก จนเกิดตลาดต่างประเทศ

หากมองภาพให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บริการดังกล่าวเป็นบริการแพลตฟอร์มชนิดหนึ่งที่มีทั้งคนที่ต้องการซื้อและคนที่ต้องการขาย ให้มารวมอยู่ในจุดเดียวกัน ถ้าจุดที่ให้บริการ Internet Exchange เจ้าใดมีชื่อเสียงมาก ก็จะมีทั้งผู้ซื้อซึ่งได้แก่ ISP และ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ขายซึ่งได้แก่ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและคอนเทนต์ มาอยู่รวมกันใน Internet Exchange นั้นๆ ในปริมาณมาก ซึ่งในประเทศต่างๆ ก็จะมีผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายหลักๆ อย่าง AMSTERDAM IX, Netherlands IX, London IX , Hong Kong IX, Japan IX, Equinix IX  เป็นต้น ซึ่งบางแห่งมีสมาชิกเชื่อมต่อกันมากถึง 300 กว่ารายหรือเป็นแบนด์วิดท์มากกว่า 10 Tbps

ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ให้บริการ IX  ที่ถือใบอนุญาตของ กสทช. เป็นจำนวนกว่า 10 ราย โดย Thailand IX เป็น Internet Exchange รายหลักของประเทศที่มีการเชื่อมต่อกับสมาชิกในจำนวนมากที่สุดซึ่งนั่นหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงแอปพลิเคชันและคอนเทนต์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย  

“เนื่องจาก Thailand IX เป็นบริการสำหรับเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ แต่เราเปิดให้ผู้ใช้บริการในระดับองค์กรขนาดใหญ่ได้เชื่อมต่อเข้ามาเช่นกัน เพื่อการเข้าถึงแอปพลิเคชัน และคอนเทนต์เฉพาะด้าน อาทิ คอนเทนต์ด้านบันเทิง หรือเกม ซึ่งการเชื่อมต่อกับ Thailand IX โดยตรงจะทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับของ ISP " อุบลพรรณ กล่าว

ปัจจุบันหน่วยงานราชการ ยังได้เริ่มเชื่อมต่อกับ Thailand IX เช่น เน็ตเวิร์กของ สป.อว. (สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือการเชื่อมต่อระบบคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและสนับสนุนการให้บริการกับภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สร้างความเชื่อมั่นด้วย Connectivity ทั้งระบบเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน

อุบลพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและคอนเทนต์รายใหญ่ของโลกหลายรายได้ขยายจุดเชื่อมต่อเข้ามายังประเทศในกลุ่มเอเชีย อาทิ Microsoft, Tencent, Facebook Amazon และ Google โดยปัจจุบันบางราย ได้เริ่มนำอุปกรณ์มาติดตั้งในประเทศไทย และบริษัทเหล่านี้ก็มีความต้องการเข้ามาเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม Thailand IX ของ CAT    

สำหรับ Internet Exchange ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สิงคโปร์ถือว่ามีความแข็งแกร่งทางด้านการให้บริการทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงธุรกิจและไอที รองลงมาคือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่ง CAT ได้มีการพัฒนาศักยภาพ Thailand IX ให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยและเชื่อมั่นว่าจะก้าวสู่การเป็น  ASEAN Digital Hub ของภูมิภาคนี้ได้ในอนาคตอันใกล้

"ปัจจุบันสถานการณ์ด้าน ICT ภายในประเทศไทยดีขึ้น ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไว้ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีระบบเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณของความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การมี Thailand IX จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยและภูมิภาคแข็งเกร่งยิ่งขึ้นทั้งคุณภาพและต้นทุนในการให้บริการ " อุบลพรรณ กล่าวย้ำ

เชื่อมต่อ Thailand IX เพื่อต้นทุนที่ถูกกว่าการเชื่อมต่อในต่างประเทศ

สมัยก่อนผู้ให้บริการจะต้องไปดึงคอนเทนต์จากต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ อเมริกา ญี่ปุ่น ถ้าประเทศไทยเป็นจุดดึงดูดให้บริษัทต่างชาติที่ทำกิจการด้านคอนเทนต์มาอยู่ในประเทศไทย ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ราคาต่อ Mbps ถูกลง ซึ่งสามารถนำเงินจำนวนนั้นไปขยายแบนด์วิดท์เพิ่มมากขึ้น 

ซึ่งค่าใช้จ่ายในการใช้บริการในปัจจุบันนั้น หากเป็นแบนด์วิดท์ในระดับพอร์ต 10 Gbps. จะมีราคาถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับแบนด์วิดท์ที่ออกต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อต้นทุนทางด้านอินเทอร์เน็ตถูกลง ผู้บริโภคก็จะได้ใช้แบนด์วิดท์เพิ่มมากขึ้น ได้สัมผัสการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็ว ประเทศเพื่อนบ้านก็จะหันมาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อข้อมูลเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ความคาดหวังในการนำ Thailand IX ก้าวไปเป็นศูนย์กลางภูมิภาค

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้สนับสนุน CAT ให้สามารถขยายบริการเคเบิลใต้น้ำและประเทศเพื่อนบ้านในโครงการ ASEAN Digital Hub ซึ่ง CAT ได้ดำเนินการเพื่อสนองนโยบายภาครัฐได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงได้ยกระดับแพลตฟอร์ม Thailand IX เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านให้มาเจอกัน ผลคือ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคของการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต ส่งผลประโยชน์ให้กับด้านไอซีที เช่น การใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ICT Solution และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เรากลายเป็นศูนย์กลางทางการเชื่อมต่อแล้ว จะส่งผลไปยังการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป

"ทางเราขอเชิญชวนผู้ประกอบการ มาร่วมกันใช้แพลตฟอร์ม Thailand IX เพราะประโยชน์ของบริการดังกล่าว จะสะท้อนกลับไปยังผู้บริโภค ทำให้ได้คุณภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ตดีขึ้น ภาครัฐจะช่วยได้ นั่นคือเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนด้านดิจิทัลที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความชัดเจนในเรื่องกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางด้านไอซีที หากประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อโทรคมนาคม แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก " อุบลพรรณ กล่าวสรุปไว้

ผู้ที่สนใจบริการ Thailand IX ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://th-ix.net/th/ หรือ สอบถามเพิ่มเติมที่ 02 104 3861, 02 104 3882

COMMENTS