10 ส.ค. 2563 1,867 60

Opensignal วิเคราะห์ 5G ในประเทศไทยบนคลื่นความถี่ 2600 MHz

Opensignal วิเคราะห์ 5G ในประเทศไทยบนคลื่นความถี่ 2600 MHz

ตามที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้จัดงานประมูลคลื่น 5G ขึ้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อปูทางไปสู่การเปิดใช้ 5G โดยในการประมูลนั้น AIS ได้คลื่นความถี่แบนด์ 41 (TDD, 2600 MHz) รวม 100 MHz (10 ใบอนุญาต) และ TrueMove H ได้รวม 90 MHz (9 ใบอนุญาต) Opensignal พบว่าระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทั้ง AIS และ TrueMove H ได้ใช้คลื่น 2600 MHz ที่ได้มาใหม่นี้ 20-40 MHz สำหรับ 4G โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่

การนำคลื่นความถี่ 2600 MHz มาใช้งานส่งผลต่อความเร็วการดาวน์โหลด 4G อย่างไร?

เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการนำคลื่นความถี่ 2600 MHz มาใช้ เราได้วิเคราะห์ประสบการณ์ความเร็วดาวน์โหลดจากผู้ใช้งานของเราบนเครือข่าย 4G ที่แตกต่างกันในประเทศไทย พบว่าผู้ใช้คลื่นความถี่ Band 41 ได้รับประสบการณ์ความเร็วในการดาวน์โหลด 4G ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดทั้งบนเครือข่ายของ AIS และ TrueMove H มีความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ยที่ 14.1 Mbps และ 18.4 Mbps ตามลำดับ โดยผู้ใช้ที่เชื่อมต่อบนคลื่นความถี่สูงกว่ามักจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่รวดเร็วกว่าผู้ใช้ในย่านความถี่ต่ำเนื่องจากมีแบนด์วิดท์มากกว่า

AIS และ TrueMove H กำลังปรับใช้แบนด์วิดท์ 4G มากกว่า DTAC

เราประเมินการถือครองคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละรายและพบว่าก่อนการประมูลคลื่นความถี่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้น DTAC ใช้คลื่นความถี่สูงสุด (90 MHz) สำหรับบริการ 4G ตามด้วย AIS (80 MHz) และ TrueMove H (70 MHz) ตามลำดับ อย่างไรก็ตามหลังการประมูลสิ้นสุด AIS และ TrueMove H นำคลื่นความถี่ Band 41 ใหม่ไปใช้ใน 4G เพิ่มเติมระหว่าง 20 ถึง 40MHz (ปริมาณขึ้นอยู่กับพื้นที่) ทำให้ปริมาณการใช้คลื่น 4G สูงขึ้นเป็น 120 MHz และ 110 MHz ตามลำดับ แต่คลื่น 4G ของ DTAC ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

จากการตรวจสอบเพิ่มเติม Opensignal พบว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือนำคลื่นความถี่ใหม่ไปใช้ในบางพื้นที่เท่านั้น: ซึ่ง AIS นำคลื่นความถี่ 40 MHz ไปใช้เฉพาะในจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร และใช้คลื่นความถี่ 20 MHz ในพื้นที่ที่เหลือ ในขณะที่การใช้งานคลื่น 40 MHz ของ TrueMove H มีขอบเขตที่กว้างกว่า

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในระยะยาวต่อประสบการณ์ใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้นยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้นและขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้ รวมถึงปริมาณการใช้ข้อมูลทั้งหมด แต่หากในอนาคตเมื่อคลื่น Band 41 มีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้ย่อมดียิ่งขึ้น หากการใช้งานนั้นไม่ได้ล้ำหน้าการใช้งานบนคลื่นความถี่ที่ปรับใช้เพิ่มเติมโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

5G ดึงศักยภาพการใช้คลื่นความถี่ประสิทธิภาพสูงที่จะช่วยลดความแออัด

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของยุค 5G ในประเทศไทย ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะสรุปอนาคตของ 5G อย่างไรก็ตามการใช้งานเครือข่ายอย่างหนักหน่วงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเร็วในการดาวน์โหลดต่ำ เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไทยจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลการใช้ทรัพยากรนี้ระหว่างผู้ใช้ 5G ใหม่และผู้ใช้ 4G ที่เป็นกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้อุปกรณ์ 5G มากขึ้น

เทคโนโลยี 5G ช่วยให้สามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ใหม่สมรรถนะสูงที่สามารถบรรเทาความแออัดของการใช้งานเครือข่ายได้ ตัวอย่างเช่นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยยังได้รับคลื่นความถี่แบบ mmWave ในย่านความถี่ 26 GHz ซึ่งมีสมรรถนะและความเร็วสูงมาก แต่ครอบคลุมพื้นที่ไม่กว้างซึ่งทำให้เหมาะสำหรับย่านใจกลางเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมาก แต่ไม่เหมาะกับการนำไปกระจายใช้งานในพื้นที่กว้างขวาง หมายความว่าผู้ใช้ 5G ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะใช้คลื่นความถี่ระดับกลางเช่นคลื่นความถี่ 2600 MHz เพื่อเชื่อมต่อกับ 5G แทนที่จะเป็น mmWave

เกี่ยวกับ Opensignal 

Opensignal เป็นบริษัทผู้ดำเนินการวิเคราะห์ระบบมือถือและกำหนดมาตรฐานระดับโลกโดยอิสระเพื่อทำความเข้าใจสถานะที่แท้จริงของเครือข่ายมือถือโลกโดยอิงจากการวัดประสบการณ์ผู้ใช้จริง รายงานอุตสาหกรรมของบริษัท สามารถใช้เป็นแนวทางที่ชัดเจนเพื่อเข้าใจประสบการณ์จริงที่ผู้บริโภคได้รับจากเครือข่ายไร้สาย และเราทำการวัดนี้กับผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ทุกรายทั่วโลก

COMMENTS