18 ส.ค. 2563 1,129 3

“ดีแทค” จับมือ “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” เปิดตัวพื้นที่แห่งการเรียนรู้ “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” พัฒนาทักษะชีวิตดิจิทัล

“ดีแทค” จับมือ “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” เปิดตัวพื้นที่แห่งการเรียนรู้ “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” พัฒนาทักษะชีวิตดิจิทัล

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมดิจิทัล มากยิ่งขึ้น ดีป้าจึงเล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรในประเทศทุกระดับชั้น โดยเฉพาะเยาวชนคนยุคใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยในยุคดิจิทัลขับเคลื่อนไปอย่างมั่นคง

“คงยากที่จะปฏิเสธ ว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคนี้มีความเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่าคนรุ่นเก่า แต่จะทำอย่างไรที่จะดึกศักยภาพเหล่านั้นออกมาเพื่อในเชิงบวก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเยาวชนเอง หรือ ต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดีป้าจึงร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร ห้องเรียนครูล้ำ และ ห้องเรียนเด็กล้ำ ขึ้นเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยเสริมทักษะดิจิทัล ให้ทั้งคุณครูได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เหมาะสม สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนได้รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่กับการเสริมทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญรองรับศตวรรษที่ 21” ผอ.ใหญ่ ดีป้า กล่าวเสริม

ดีแทค ภายใต้ความร่วมมือกับ ดีป้า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย รวมทั้งพันธมิตรในแวดวงการศึกษาและภาคสังคม จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่จำเป็นในชีวิตดิจิทัล โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ ห้องเรียนเด็กล้ำ และห้องเรียนครูล้ำ

ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อต่างๆมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองชุมชนและสังคมจึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทุนฯ   ซึ่งห้องเรียนเด็กล้ำจะช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่เด็กและเยาวชนได้ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อสังคมอินเทอร์เน็ตร่วมกัน

ห้องเรียนครูล้ำ : ยกบทบาทครูเป็นโค้ชช่วยสร้างทักษะชีวิตให้นักเรียน

ภูมิทัศน์การเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป การสอนออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงของการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ จากการสำรวจของดีแทคพบว่า คุณครูมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพื่อการสอนแบบ e-Learning มากที่สุด รวมไปถึง ปัญหาการออกแบบและพัฒนาคอร์สออนไลน์ และการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองในภูมิทัศน์ใหม่ รองลงมา ครูมีความหนักใจกับปัญหาการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่นักเรียนเมื่อเผชิญกับภัยเสี่ยงออนไลน์ ได้แก่ การที่นักเรียนในเวลาหน้าจอมากเกินพอดีส่งผลต่อการเรียนและพฤติกรรม และปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ภาคีพันธมิตรได้พัฒนาหลักสูตร “ห้องเรียนครูล้ำ” ขึ้น  เพื่อเพิ่มพูนทักษะการสอนให้แก่คุณครูในยุค new normal

พร้อมทั้งสนับสนุนคุณครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนในเรื่องการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ  รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์แก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม  โดยในเบื้องต้นหลักสูตรจะประกอบด้วยเนื้อหา 4 วิชา ได้แก่ 1.วิชาบูรณาการสื่อออนไลน์เพื่อการสอนในศตวรรษที่ 21 2. วิชาความหลากหลายทางเพศเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ 3.วิชาการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางออนไลน์ (Digital resilience for teacher ) และ 4.การใช้สื่อศึกษาอย่างสร้างสรรค์

มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “เยาวชนกำลังอยู่บนจุดตัดของการเปลี่ยนผ่านในอัตราเร่งสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือโอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ดีแทคจึงให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะทางดิจิทัล (digital upskilling) ให้เยาวชนฝึกสร้างกระบวนการทางความคิดและพัฒนาทักษะเพื่อรับกับการปรับใช้ดิจิทัลเพื่อโอกาสทางอาชีพ ขณะเดียวกัน เยาวชนมีความตระหนักและมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาข้อมูลความเป็นส่วนตัวของตัวเอง การแยกแยะข่าวสารและความต้านทานที่จะไม่รับอิทธิพลความเชื่อจากโฆษณาชวนเชื่อหรือการปกป้องตัวเองจากการล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ ดีแทคมีความเชื่อมั่นว่า เยาวชนไทยไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เพื่อนในวัยเดียวกันได้  เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ”

การผนึกความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมอย่าง “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ความยั่งยืนของดีแทคผ่านการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย (Policy drive) ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในวงกว้าง (Thought leadership) ตลอดจนการสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่ครู พ่อแม่และผู้ปกครอง (Capacity building)

ห้องเรียนเด็กล้ำ : หลักสูตรที่ไม่มีในห้องเรียน แต่มีในโลกชีวิตจริง

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดีแทคเปิดให้บริการห้องเรียนเด็กล้ำ เพื่อรับกับความเสี่ยงออนไลน์ที่นักเรียนต้องหยุดพักอยู่บ้านตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยหลักสูตรใน ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง คือ หลักสูตรการสร้างทักษะในการแยกแยะภัยในโลกออนไลน์ผ่านระบบการคิดเชิงวิพากษ์ และวิธีรับมืออย่างเป็นระบบ รวมทั้ง แนวทางปฏิบัติตนที่เหมาะสมในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบ

  • Online Privacy & Sexual abuse เรียนรู้เรื่องลักษณะของข้อมูลส่วนบุคคล ความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล เรียนรู้เรื่องการละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
  • Diversity Respect to Stop Cyber Bullying เริ่มต้นจากการทำแบบสอบถาม เพื่อให้เข้าใจถึงความหลากหลายในสังคม จนเกิดทัศนคติที่ดีต่อความแตกต่าง เกิดความเคารพ และยั้งคิดก่อนที่จะกลั่นแกล้งผู้อื่นให้เกิดความอับอายหรือเสียหาย หลักสูตรนี้เป็นผลมาจากการวิจัยและศึกษาของดีแทคเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งล้อเลียนในโลกไซเบอร์ในกลุ่มเด็กนักเรียนในระดับมัธยมต้น – ปลายที่พบว่า กลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อในการกลั่นแกล้งรังแกมากที่สุดคือ นักเรียนที่เป็น LGBTQ เรื่องที่ล้อเลียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างทางเพศ โดยงานวิจัยดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า เยาวชนที่เป็น LGBTQ กว่า 80% เคยถูกล้อเลียน โดยเฉลี่ยจะถูกกระทำสัปดาห์ละครั้งและสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ก็คือ ห้องเรียนของเด็กเอง
  • Anatomy of Fake News เรียนรู้ความหมายและองค์ประกอบต่างๆ ของข่าวปลอม วิธีและเครื่องมือที่สามารถใช้ในการแยกแยะ ระบุข่าวปลอม และผลกระทบที่เกิดขึ้น

และหลักสูตรในส่วนที่สอง คือ หลักสูตรที่สอนให้เยาวชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโลก อาทิ แชทบอท ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การแสดงผลข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization)  เทคนิคการเล่าเรื่อง (Story Telling)  และการสร้างบอร์ดเกม  ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เด็กเยาวชนยุคใหม่ควรเรียนรู้  เพิ่มทักษะสู่การเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 นี้ต่อไป

ห้องเรียนเด็กล้ำและห้องเรียนครูล้ำ พร้อมแล้วที่จะให้น้องๆ เยาวชน และบุคลากรครู อาจารย์ เข้าไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้วได้ที่ https://learn.safeinternet.camp/

บรรยายภาพ

ผศ.ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ที่สองจากซ้าย) มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ที่สองจากขวา) ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ (ขวา) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และเยาวชนจากโครงการ Young Safe Internet Leader Cyber Camp 2020 ในงานแถลงข่าว “ดีแทค” จับมือ “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” เปิดตัวพื้นที่แห่งการเรียนรู้  “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” พัฒนาทักษะชีวิตดิจิทัล  ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) 

COMMENTS