12 ก.ย. 2563 1,002 2

DGA เปิดยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน 6 ความท้าทาย เดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565)

DGA เปิดยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน 6 ความท้าทาย เดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565)


สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563 -2565) ขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจาก ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, ณพิชญา เทพรอด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และผู้บริหาร DGA เข้าร่วมประชุมเพื่อถ่ายทอดแนวนโยบายและแนวทางการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี และแผนปฏิบัติการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลปี 2565 ทั้งนี้ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เป็นอย่างดี โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานถึง 225 ท่าน จาก 151 หน่วยงาน



ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเปิดการประชุมครั้งนี้ว่า “DGA เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดังนั้นงานประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้จึงเป็นการเดินหน้าตามภารกิจที่สำคัญเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีระบบการทำงานและข้อมูลที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานรัฐอย่างมั่นคง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เปิดเผยและโปร่งใส เพื่อมุ่งให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการ และสามารถตรวจสอบการดำเนินงานหน่วยงานของรัฐได้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างยั่งยืน”



ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเสริมว่า “การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่ DGA ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2563 -พ.ศ.2565 โดยมีหลักการสำคัญและวัตถุประสงค์ ตาม พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 และการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ มีการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานรัฐ และมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศ โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 4 ของ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง



ทั้งนี้ภาพรวมของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ 3 ปี ฉบับที่จัดทำอยู่นี้จะมุ่งไปที่ การดำเนินการในกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประเด็นที่สำคัญทั้ง “6 ด้าน 6 ความท้าทาย” ตลอดจนกลไกการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดังนี้


  • 6 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ของประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)


  • และ 6 ความท้าทาย คือ การมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงภาครัฐในรูปแบบใหม่ในยุคหลัง COVID-19 ทั้งในด้านแนวคิดใหม่ (New Way of Thinking) การสื่อสารรูปแบบใหม่ (New Way of Communicating) การทำงานรูปแบบใหม่ (New Way of Working/Doing) การดำรงชีวิตแบบใหม่ (New Way of Living) ความคาดหวังใหม่ (New Expectation) และสุดท้ายคือ วิธีการใหม่ที่โดนใจ (New way of Winning)


โดยภาครัฐจำเป็นต้องคิด ทบทวน และปรับ กลยุทธ์การบริหารจัดการและรูปแบบการบริการภาครัฐใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของประชาชนที่แตกต่างไปจากเดิมได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่เป้าหมายเชิงคุณภาพ 4 ประการ คือ 1) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการ 2) เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน 3) โปร่งใสตรวจสอบได้ และ 4) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน



DGA คาดว่าผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะสามารถสร้างแนวทางการดำเนินงานของทุกภาคส่วนมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัลในอนาคต 3 ปี ข้างหน้าได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด และโครงการที่จะต้องดำเนินการ ตลอดจนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในแต่ละโครงการ หรือ กิจกรรมที่มีความสำคัญเร่งด่วน (Quick Win) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ พร้อมเดินหน้าวางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563- พ.ศ.2565) และแนวทางการจัดทำแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ต่อไป”

COMMENTS