25 ก.ย. 2563 1,157 0

บ๊อชเปิด Bosch Innovation House ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บ๊อชเปิด Bosch Innovation House ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บ๊อช ประเทศไทย เปิดตัว Bosch Innovation House (BIH) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park: STeP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของบ๊อชในการพัฒนา “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต”

 
Bosch Innovation House ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโครงการที่สอง หลังจากที่ได้จัดโครงการแรกไว้ที่ True Digital Park กรุงเทพฯ โดยได้จัดแสดงเทคโนโลยีต่าง ๆ ของบ๊อชที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ Bosch Innovation House ทั้งสองแห่งอยู่ในระบบนิเวศที่พร้อมด้วยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจสำคัญอีกมากมาย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมแห่งการเสริมสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน กลุ่มนักพัฒนา และกิจการสตาร์ทอัพ ให้พร้อมพัฒนาต่อไปในอนาคต” มร.โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าว

เทคโนโลยีเด่นบางส่วนของบ๊อชที่นำมาจัดแสดงที่ Bosch Innovation House ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีทั้งโซลูชั่นอาคารระบบเชื่อมต่อที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้อยู่อาศัย ช่วยให้การบริหารอาคารมีความโปร่งใส ทำให้ทราบข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเสริมความปลอดภัยและมั่นคงของอาคาร ตัวอย่างเช่น โซลูชั่นที่จอดรถเสมือนจริง (virtual parking solution) โซลูชั่นระบบซ่อมบำรุงลิฟต์ ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ และระบบอัจฉริยะเมื่อต้องอพยพฉุกเฉิน (smart evacuation) เป็นต้น

การอุบัติขึ้นของโควิด-19 ได้เปลี่ยนโลกไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้การเว้นระยะห่างทางสังคมและการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล กลายเป็นแนวปฏิบัติปกติในวิถีชีวิตใหม่ (new normal) กล้องของบ๊อชที่เป็นตัวเซ็นเซอร์ รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้เซ็นเซอร์หลายตัวเป็นองค์ประกอบ ได้ทำหน้าที่เป็นโซลูชั่นคอยตรวจตราการใช้พื้นที่และความหนาแน่นของกลุ่มคน จึงมีส่วนช่วยดูแลการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อจำกัดจำนวนผู้ที่เข้ามาติดต่ออาคาร

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นผลักดันและส่งเสริมนวัตกรรม ด้วยการเชื่อมโยงภาควิชาการเข้ากับแวดวงอุตสาหกรรม (University-Industry Linkage) อันนำไปสู่ความร่วมมือต่าง ๆ และเอื้อให้เกิดเทคสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในด้านวิชาการ ได้ร่วมมือกับอีก 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคเหนือ เพื่อสนองต่อความต้องการของเจ้าของกิจการในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ในส่วนการสนับสนุนโครงการและการพัฒนาของภาคเอกชน อุทยานฯ ให้บริการที่ครอบคลุม เช่น โรงงานต้นแบบในการผลิตอาหาร ห้องปฏิบัติการ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ การจับคู่ทางธุรกิจ รวมทั้งโต๊ะทำงาน พื้นที่สำนักงานขนาดเล็กหรือใหญ่ ห้องปฏิบัติการแบบเปียกและแบบแห้ง เป็นต้น”

“Bosch Innovation House ได้ทำหน้าที่ในระบบนิเวศที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ แห่งนี้ โดยแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ มีศักยภาพในการช่วยเราเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและทำงานได้อย่างไร” มร.ฮง กล่าวเสริม ในการนี้ บ๊อช ประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้สัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยการพาเยี่ยมชม Bosch Innovation House แบบเสมือนจริง (virtual tour) เพื่อรองรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาถึงเชียงใหม่ด้วยตนเอง โดยสามารถเข้าชมได้ที่ A Virtual Tour to Bosch Innovation House

ในงานนี้ มร.ฮง ได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรม โดยย้ำให้เห็นถึงวัฒนธรรมแห่งการสรรค์สร้างนวัตกรรมของบ๊อช ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงาน ไอเดีย และแนวปฏิบัติภายในกลุ่มบ๊อช “บ๊อชยึดถือคุณค่าแห่งความหลากหลาย ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่บ๊อชเลยทีเดียว” เขากล่าว

“เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพที่ดีในการเป็นศูนย์กลางสำหรับนักสร้างสรรค์และนวัตกร ดังนั้น บ๊อชจึงยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่นี่ และหวังว่าจะมีความร่วมมือด้านอื่นต่อไปในภายภาคหน้า และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประชาคมและสังคมไทยได้” มร.ฮง กล่าวสรุป

COMMENTS