14 ต.ค. 2563 1,011 0

ทีโอที - มิวสเปซ เดินหน้าเทคโนโลยีอวกาศ หลังภารกิจยิงจรวด Blue Origin ขึ้นฟ้าสำเร็จ ตั้งเป้าให้บริการ Space IDC หนุนธุรกิจในยุคดิจิทัล

ทีโอที - มิวสเปซ เดินหน้าเทคโนโลยีอวกาศ หลังภารกิจยิงจรวด Blue Origin ขึ้นฟ้าสำเร็จ  ตั้งเป้าให้บริการ Space IDC หนุนธุรกิจในยุคดิจิทัล


ทีโอที ร่วมกับ มิวสเปซ ศึกษาความเป็นไปได้ของดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมรับไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิทัลในอนาคต ล่าสุดการยิงจรวด Blue Origin เพื่อทดสอบการทำงานอุปกรณ์ดิจิทัลในอวกาศ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เวลา 20.35 น. โดยภายในจรวดประกอบด้วยชุดการทดลองของ ทีโอที ที่บรรจุภายใน Single Payload Locker ของ Blue Origin คือ TOT Data Center Payload หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และขยายผลดำเนินการในขั้นตอนต่อไป


มรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ ทีโอที ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้และโอกาสในการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีไร้สายดาวเทียมวงโคจรต่ำ(LEO) โดย ทีโอที ได้จัดคณะทำงาน เพื่อดำเนินการศึกษาควบคู่กับการพัฒนาบุคคลากร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารและพนักงาน เพื่อสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมในอนาคต  ตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นผู้นำในการให้บริการและศูนย์กลางเกตเวย์ภาคพื้นดิน ในการให้บริการ Space IDCและ Space Digtal Platformในอนาคต ด้วยคุณสมบัติที่ได้เปรียบของดาวเทียมวงโคจรต่ำ ในด้านความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ จะทำได้ง่ายกว่าภาคพื้นดิน ทำให้ที่มีโอกาสอย่างมากที่จะเข้าแทนที่การใช้งานบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทางสาย ทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้าง Internet Data Center IoT Platformบนวงโคจรในอนาคตข้างหน้า 


ขณะเดียวกัน ผลจากความร่วมมือครั้งนี้ ทีโอที และ มิวสเปซ ได้ส่งอุปกรณ์ขึ้นไปทดสอบกับ lue Origin จรวดของบริษัทในเครืออเมซอน อเมริกา เมื่อค่ำวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เวลา 20.35 น. ที่ผ่านมาทุกอย่างเสร็จสิ้นตาม Mission ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ คือรอนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และดำเนินการต่อไป ซึ่งTOT Data Center Payload  เป็นชุดการทดลองของ ทีโอที  ที่ ทีโอที  กับ มิว สเปซ ทดลองส่งอุปกรณ์ขึ้นสู่วงโคจรระดับ Sub-orbital ด้วยจรวด New Shepard ของ Blue Origin ในเที่ยวบิน NS-13 โดยอุปกรณ์ทดลองดังกล่าวเป็น Server Payload ที่ประกอบไปด้วย Web Server, IoT (Internet of Things) Platform, Big data device ต่างๆ เพื่อการวิจัยสำหรับการพัฒนาดาวเทียมสื่อสาร Low-Earth orbit (LEO)  ในอนาคต เพื่อทดแทนระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายแบบ Broadband  ในปัจจุบัน 

มรกต กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ ทีโอที ได้ ร่วมมือกับ มิวสเปซ การมีพาร์ทเนอร์ที่ดี มีทีมงานของ ทีโอที ที่พร้อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ ทีโอที ที่มีความพร้อมในการร่วมทำภารกิจสำคัญๆ ได้เป็นอย่างดี 

ทีโอที และ มิวสเปซ ต้องการผลักดันกิจการอวกาศของประเทศไทยให้มีที่ยืนในสังคมโลกในด้านกิจการอวกาศอย่างจริงจัง ไอเดียด้านการทำ Space IDC เป็นไอเดียที่จุดประกายให้กับแวดวงโทรคมนาคมไทย ทีโอที และ มิวสเปซ อยากให้ในระดับรัฐบาลให้ช่วยสนับสนุนสิ่งที่ทำ ซึ่งไม่ใช่เป็นการแข่งขันกันแต่เป็นการร่วมมือในการทำ Mission เรื่องกิจการอวกาศโดยคนไทยมีส่วนร่วม พวกเราก้าวใหญ่มาก หวังให้เป็นแรงบันดาลใจให้ฮึกเหิมก้าวไปข้างหน้าได้อีก และในอนาคตอันใกล้นี้ ทีโอที จะมีงานจากความร่วมมือกับ มิวสเปซ อย่างต่อเนื่อง 


วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า mu Space Corp ร่วมกับ Blue Origin ทำการส่งชุดการทดลองทั้งหมด 5 โมดูลขึ้นไปในอวกาศกับจรวด New Shepard เที่ยวบิน NS-13 ซึ่งเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวงโคจรแบบ Sub-orbital (ไปแล้วกลับ) โดย mu Space Corp ส่งอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับยาน New Shepard เที่ยวบิน NS-13 ใน Single Payload Locker และ Mini Payload Locker ทั้งหมด 5 โมดูล ขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ข้อมูลกลับมา มิวสเปซ ร่วมกับ ทีโอที จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และนำผลที่ได้มาออกแบบอุปกรณ์ครั้งต่อไป โดย คาดจะมี Mission ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นให้เร็วๆ นี้



COMMENTS