5 พ.ย. 2563 855 22

AIS เผยไตรมาส 3 ปี 63 รายได้รวม 41,715 ล้านบาท ล็อคเป้า! ลงทุนขยายศักยภาพเครือข่าย 5G เพื่อคนไทยเต็มกำลัง

AIS เผยไตรมาส 3 ปี 63 รายได้รวม 41,715 ล้านบาท ล็อคเป้า! ลงทุนขยายศักยภาพเครือข่าย 5G เพื่อคนไทยเต็มกำลัง

เอไอเอส รายงานผลประกอบการ ไตรมาส 3/2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 41,715 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า กำไรสุทธิ อยู่ที่ 6,764 ล้านบาท โดยหากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กำไรสุทธิทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุน และแม้จะยังได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปี ยังคงเดินหน้าลงทุนด้านเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในโอกาสครบรอบ 30 ปี ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เอไอเอส เปิดให้ลูกค้าและคนไทยได้สัมผัสประสบการณ์ความบันเทิงและคอนเทนต์ที่เหนือกว่าจากเทคโนโลยี 5G ทั้ง AR, VR และ Cloud Game พร้อมเปิดบริการแพ็กเกจ 5G ครั้งแรกของเมืองไทย ตลอดจนวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ภาคธุรกิจไทยเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน *ไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16*


สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “การปรับตัวของภาคเศรษฐกิจไทยในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงทิศทางในการปรับตัวสู้กับภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าในหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรในทุกระดับ คือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับเอไอเอส มองว่า เทคโนโลยี 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สำคัญต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเป็นฟันเฟืองที่จำเป็นต่อการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน”

เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้เปิดตัวบริการ 5G อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้คนไทยทุกพื้นที่ ได้รับประสบการณ์ครบถ้วน จากแพ็กเกจและดิจิทัลคอนเทนต์ ประกอบด้วย แพ็กเกจ AIS 5G Max Speed แพ็กเกจ 5G แรกของไทย ด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ตถึง 1 Gbps เมื่อใช้งานผ่านเครือข่าย AIS 5G รวมถึง AIS 5G Application อย่าง AIS 5G PLAY AR, AIS 5G PLAY VR และ AIS 5G Cloud Game ให้ลูกค้าเอไอเอสได้สัมผัสประสบการณ์ 5G ได้ตามแบบไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

ในไตรมาส 3 เอไอเอส มีรายได้รวม 41,715 ล้านบาท ลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอไอเอส ยังคงมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในตลาดที่ 40.9 ล้านเลขหมาย เป็นลูกค้าระบบรายเดือน จำนวน 9.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ จำนวน 235,000 ราย และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 31.2 ล้านราย ลดลง 313,000 ราย โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจต่อเนื่องมายังไตรมาส 3 ส่วนการใช้งานดาต้าเฉลี่ยอยู่ที่ 17.2 กิกะไบต์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.3% และสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ 4G ยังเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเป็น 76% ของฐานลูกค้าทั้งหมด

ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้วยจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 53,000 ราย ส่งผลให้มีลูกค้ารวม 1.26 ล้านราย และมีรายได้จากธุรกิจเน็ตบ้าน 1,785 ล้านบาท เติบโตขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่าจะมีลูกค้ารวมไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ ด้านธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรเติบโตสูงต่อเนื่องจากความต้องการใช้บริการ Cloud, Data Center และ IT Solution ที่เพิ่มขึ้นด้วยความต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเดินหน้าสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรด้วยขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ด้วยปัจจัยลบทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจไทยในภาพรวม ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรสำหรับการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้เอไอเอส มีกำไรสุทธิ 6,764 ล้านบาท* ลดลง 6.5 % เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ผลกำไรสุทธิทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เอไอเอสยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีการกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพียงพอต่อการลงทุนขยายโครงข่าย ทั้งบริการ 5G และ 4G รวมทั้งค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ซึ่งบริษัทยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกรวม 65,000 ล้านบาท และคงงบลงทุนทั้งปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท *ไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16*

“การลงทุนเครือข่าย โดยเฉพาะ 5G ในปีนี้ เราไม่ได้มองเห็นแค่ผลประโยชน์ในระยะสั้น แต่ความมุ่งหวังของเอไอเอส คือการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย ที่จะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้ ขณะที่ ในระดับ Mass Scale อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี ถึงจะเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากการนำไปใช้งานจริง นอกจากคุณภาพของเครือข่ายแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้อีก 2 อย่าง คือการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ที่รองรับการใช้งานในราคาที่เหมาะสม รวมทั้ง การสร้างแอปพลิเคชันเฉพาะด้านที่จะเกิดประโยชน์กับกลุ่มผู้ใช้งานที่ชัดเจน สุดท้ายนี้ เราเชื่อมั่นว่า ด้วยคุณภาพของเครือข่าย งานบริการที่ประทับใจและตอบโจทย์ความต้องการ เทคโนโลยีล้ำสมัย สิทธิพิเศษที่ลงตัวกับทุกไลฟ์สไตล์ และการบริหารองค์กรด้วยสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเอไอเอสมาตลอด 30 ปี ที่ผ่านมา ในฐานะองค์กรของไทยที่พร้อมเติบโตและอยู่เคียงข้างคนไทยทุกคนตลอดไป” สมชัย กล่าวสรุป

COMMENTS