13- 14 พ.ย. นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญชวนคนไทยทุกเพศทุกวัย มาร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้ทีมชาติไทย ทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) ในการแข่งขัน ไซบาธอน 2020 (Cybathlon) ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลก โดยปีนี้ประเทศไทยส่งนักแข่ง (Pilot) คือ คุณศักดิ์จุติ ปลั่งพงษ์พันธ์ (ออมสิน) หนุ่มขาพิการจากอุบัติเหตุ วัย 34 ปี อาชีพครูสอนศิลปะและขับรถ Grab ลงแข่งประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นด้วยระบบไฟฟ้า(FES) และคุณเกรียงไกร เตชะดี (ปาล์ม) หนุ่มผู้พิการตั้งแต่คอลงไป นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา วัย 26 ปี ลงแข่งประเภทคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI) แค่คิด ก็ขับรถแข่งได้
ร่วมชม-เชียร์ ผ่านเพจ https://www.facebook.com/egmahidol/ ทั้งนี้ ทีมไทยลงแข่ง ประเภทควบคุมสั่งการด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI) และประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (FES) ในวันที่ 13 พ.ย.(22.00 - 02.00 น.) แข่ง 3 ประเภท คือ ประเภทควบคุมสั่งการด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI), ประเภทใช้เทคโนโลยีแขนเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจ และ ประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (FES) ส่วนใน วันที่ 14 พ.ย.(19.00 - 21.00 น.) ซึ่งมีการแข่งขัน 3 ประเภท คือ ประเภทควบคุมวีลแชร์ ซึ่งมีต้นกำลังขับเคลื่อนเพื่อขึ้นบันไดและตะลุยวิบาก , ประเภทใช้เทคโนโลยีขาเทียม วิ่งวิบากและปฏิบัติภารกิจ และประเภทแข่งขันเดินผ่านสิ่งกีดขวางโดยใช้อุปกรณ์เสริมแรงสำหรับผู้พิการไขสันหลัง
ไซบาธอน (Cybathlon) เป็นการแข่งขันนานาชาติที่จัดทุก 4 ปี เปรียบเสมือน “โอลิมปิกทางเทคโนโลยีระดับโลกสำหรับผู้พิการและนวัตกร” จากทั่วโลกได้มาประลองการออกแบบนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีสุดล้ำสำหรับผู้พิการ เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการแพทย์และมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ BCI คลื่นสมองเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ สรีระอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆที่น่าตื่นตาตื่นใจ เริ่มจัด Cybathlon 2016 เป็นครั้งแรก และครั้งนี้ Cybathlon 2020 ที่เมือง Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 77 ทีม จาก 30 ประเทศทั่วโลก ซี่งปีนี้จัดแข่งทางออนไลน์เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด
การแข่งขัน Cybathlon 2020 แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทควบคุมสั่งการแข่งรถด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI : Brain-Computer Interface Race) สำหรับผู้พิการการเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่าคอลงมา 2. ประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (Functional Electrical Stimulation Bike Race) สำหรับผู้พิการไขสันหลัง ตั้งแต่เอวลงมา 3. ประเภทใช้เทคโนโลยีแขนเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจ (Powered Arm Prosthesis Race) 4. ประเภทใช้เทคโนโลยีขาเทียม แข่งขันวิ่งวิบากและปฏิบัติภารกิจ (Powered Leg Prosthesis Race) 5. ประเภทแข่งขันเดินผ่านสิ่งกีดขวางโดยใช้อุปกรณ์เสริมแรงสำหรับผู้พิการไขสันหลัง (Powered Exoskeleton Race) และ 6. ประเภทแข่งขันควบคุมวีลแชร์ ซึ่งมีต้นกำลังขับเคลื่อนเพื่อขึ้นบันไดและตะลุยวิบาก (Powered Wheelchair Race)