ดีแทค EXIM BANK กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จัดเวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “การเกษตรเพื่อการส่งออก” สอดรับแนวโน้มอุปสงค์เพิ่มจากตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรไทยอยู่ในสภาวะ “น่าห่วง” สัดส่วนการส่งออกลดลงตลอด 3 ทศวรรษ แนะหาสินค้าเกษตรดาวเด่นตัวใหม่ป้อนตลาดโลก ยกเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรมาตรฐานโลก เพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกศักยภาพการผลิตเพื่อแข่งขันได้ในตลาดโลก
ชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยตั้งเป้าการขยายตัวอย่างเนื่อง โดยวางเป้าหมายให้เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในตลาดโลก นำมาซึ่งรายได้ทั้งจากในและต่างประเทศ ตลอดจนมีการสร้างเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต ให้สอดรับกับการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญบนเวทีโลก มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแนบแน่นกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของการเชื่อมโยงภูมิภาค ทั้งการคมนาคมขนส่ง การผลิต การค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการเกษตรและการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งออกสินค้าทางการเกษตร
ยกระดับเกษตรกรสู่ “ผู้ประกอบการ”
บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมภาคการเกษตรไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนภาคการเกษตรให้มีพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พร้อมส่งออกไปแข่งขันในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2563 เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนายกระดับเกษตรกรให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านการส่งเสริมยกระดับเกษตรกรสู่การเป็น “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneurship) ที่เข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับสากลได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดหลักของการประกวดในปีนี้ภายใต้กรอบ “การเกษตรเพื่อการส่งออก” เพื่อยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานสู่ระดับโลก สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการเกษตรและประเทศชาติ
“จากการประกวดในครั้งนี้ เราจะเห็นว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ ล้วนมีลักษณะเป็นผู้ประกอบการ กล่าวคือ มีการทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ รู้ความต้องการของตลาด มีการวิจัยและต่อยอด เพื่อสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ที่สำคัญ ยังมีลักษณะความเป็นผู้นำ แบ่งปันความรู้และผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกในชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างรากฐานชุมชน สังคม และประเทศให้แข็งแรงยิ่งขึ้น” นายบุญชัย กล่าว
ดีแทคสนับสนุนเทคโนโลยีเพิ่มผลิตภาพเกษตร
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ภายใต้การแข่งขันของตลาดโลกในบริบทสินค้าเกษตร “คุณภาพ” ถือเป็นจุดขายหลักในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกษตรกรไทยจำเป็นต้องรู้จักทำเทคโนโลยีเกษตร (AgriTech) ผสานเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมศักยภาพทั้งในแง่การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการควบคุมคุณภาพ (Quality control) ทำให้การลงทุนมีความแม่นยำมากขึ้น ส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ
“ที่ผ่านมา ดีแทคได้ร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อติดอาวุธทางความรู้แก่เกษตรกรไทยมากว่า 10 ปี โดยล่าสุด ได้มีการเปิดตัวแอป Kaset Go โดยความร่วมมือกับยารา ประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ของเกษตรกรตัวจริง ซึ่งมีความมุ่งหวังให้เกษตรกรได้รับข้อมูลความรู้ที่ทันสมัย เข้าใจง่าย และตรงต่อความต้องการเฉพาะราย” นายชารัด กล่าว
นอกจากนี้ ดีแทคยังได้วางโร้ดแมพที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม โดยในปี พ.ศ.2564 จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เสริมศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยอย่างครบครันมากขึ้น ซึ่งเป็นการติดอาวุธให้เกษตรกรไทยแข็งแกร่งพร้อมกับการเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงมากขึ้น
EXIM BANK สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อให้ส่งออกได้อย่างยั่งยืน
พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละ 2.2 ล้านล้านบาท หรือ 13% ของ GDP ไทย ขณะที่เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ราว 10% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 17% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวลดลงต่อเนื่องตลอดเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเร่งหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรของไทย เพื่อหา Product Champion ตัวใหม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญในหลายสินค้า ทั้งทุเรียน มันสำปะหลัง ข้าว ไก่ และสับปะรด ครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกโลกถึง 92%, 44%, 17%, 11% และ 14% ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าเกษตรหลายรายการของไทยยังส่งออกได้แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ยังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีศักยภาพจะขยายตลาดในต่างประเทศได้อีกมาก
EXIM BANK จึงพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกของผู้ประกอบการภาคเกษตร โดยการใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรในการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อส่งออกและขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศได้มากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคตามวิถีการดำเนินชีวิตในรูปแบบ New Normal อาทิ การให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดย EXIM BANK มีบริการสนับสนุนทั้งด้านความรู้ การเงิน การให้คำปรึกษาและจับคู่ธุรกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่องและความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกอย่างมั่นใจและแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
เกี่ยวกับ เวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด
“เวทีประกวดเกษตกรสำนึกรักบ้านเกิด” เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน ด้วยปณิธานหวังปลุกจิตสำนึกการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแก่เยาวชนของผู้ก่อตั้ง คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ทั้งนี้ การประกวดฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหา สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำบทเรียนต้นแบบไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัว กับกระแสการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตนเองได้ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิดและแสดงถึงความมุ่งมั่นในการตอบแทนคุณแผ่นดินของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดและองค์กรภาคีในการส่งเสริม สนับสนุน ยกระดับเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดให้มีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการเกษตร ที่สำคัญ เพื่อเผยแพร่ผลงานและความสำเร็จของเกษตรกรต้นแบบสำนึกรักบ้านเกิดสู่สาธารณชน ให้เกิดการยอมรับและเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและประกอบการเกษตร
เกณฑ์การคัดเลือก
คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 มิติ ได้แก่
ผลการตัดสินการประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2563”
ผู้ที่ได้รับรางวัลจะต้องสามารถเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำบทเรียนไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัวเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลง สามารถพึ่งพาตนเอง และพร้อมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
รางวัลชนะเลิศ
เสาวลักษณ์ มณีทอง จากสวนปันแสน จังหวัดตาก เกษตรกรผู้ผลิตสมุนไพรส่งออกไปอเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย
เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของสมุนไพรไทย ด้วยการนำสมาชิกในชุมชนมาผลิต “สมุนไพรไทยไร้สารเคมี” มาตรฐานสากล รวบรวมและแปรรูป สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อนำสมุนไพรไทยสู่สากล ทำการตลาดควบคู่การผลิต พัฒนา วิจัย ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความแตกต่าง ด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชนมีรายได้ที่น่าพอใจ ไม่เอาเปรียบเกษตรกร คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร มีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ แปรรูปเอง ขายเอง ทำการตลาดเอง สามารถกำหนดราคาตลาดได้เองจนชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
รองชนะเลิศอันดับ 1
สิทธา สุขกันท์ จากกลุ่มข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร เกษตรกรผู้ส่งเมล็ดข้าวเปลือกให้กับคู่ค้า นำไปแปรรูปเป็นแป้ง เส้นพาสต้า และราเมง
เกษตรกรหนุ่มผู้ผลิตข้าวแข็งอินทรีย์ มาตรฐานส่งออก นำไปแปรรูปเป็นแป้ง เส้นพาสต้า และราเมง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นบุคคลที่ให้คุณค่าในอาชีพชาวนาความตั้งใจที่จะยกระดับอาชีพชาวนาให้มีเกียรติเทียบเท่ากับอาชีพอื่น ๆ ให้ชาวนามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำทุกอย่างให้เห็นเป็นตัวอย่าง และค่อย ๆ เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนวิธีการ ให้ชุมชนเห็นว่า ชาวนาสามารถทำข้าวอินทรีย์ส่งออกได้ มาตรฐานสากลก็ทำได้ และร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมกันรับผิดและรับชอบ มีการพัฒนาการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
รองชนะเลิศอันดับ 2
ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง จันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรผู้ส่งออกผลสด และทุเรียนแปรรูป ไปประเทศจีน สิงคโปร์ ใต้หวัน เวียดนาม
ณัฐวุฒิเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับไปช่วยครอบครัวทำสวนผลไม้ และนำความรู้ที่เรียนจบปริญญาโทด้านพลังงานไปพัฒนาระบบการทำเกษตร จนกลายเป็นเกษตรอัจฉริยะที่มีการนำระบบหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติมาพัฒนาด้านการผลิต การแปรรูป ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดต้นทุนการจ้างแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายในฟาร์ม พัฒนาสวนจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ ให้กับชุมชน ได้เข้ามาศึกษาและนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างความมั่งคงทางอาหารและพัฒนาการเกษตรของประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป มีการพัฒนา เพิ่มมูลค่า แปรรูปผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทุเรียนกรอบ JR Farm ที่แปรรูปด้วยเครื่องอบระบบดิจิทัล ใส่ใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกจนถึงการแปรรูป
เกษตรกรดีเด่น
ชำนาญ คุ้มไพร ร้อยเอ็ด
คณิสรฟาร์มแมงอินเตอร์ เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และแปรรูป
อรวรรณ สุวรรณหล้า ลำพูน
หจก. สวนปทุมทิพย์ เกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปมะม่วง 7 สายพันธุ์
อมตะ สุขพันธ์ แม่ฮ่องสอน
หจก.วัน-อ๊อฟ คอฟฟี่ ฟาร์มสเตย์ ผู้ผลิตกาแฟ
ศราวุธ พรชัยสิทธิ์ ฉะเชิงเทรา
สวนมะพร้าวน้ำหอมคุณราตรี ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม
สมพงษ์ หนูศาสตร์ เพชรบุรี
สปาเกลือกังหันทอง ชาวนาเกลือ และผู้ผลิตเครื่องสำอางส่งต่างประเทศ
มณีรัตน์ ภาโนมัย อุตรดิตถ์
ดี ฟรุต ฟาร์ม (Dfruit Farm) ชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและมะม่วงโชคอนันต์
ศักดา แสงกันหา นครราชสีมา
Maligood ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตผ้าไหมส่งออก
บรรยายภาพ
ชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (ที่ห้าจากซ้าย) บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด (ที่สามจากซ้าย) ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (ที่หนึ่งจากซ้าย) พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) (ที่เจ็ดจากซ้าย) ร่วมแสดงความยินดี กับเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2563 เสาวลักษณ์ มณีทอง (ที่สี่จากซ้าย) เกษตรกรที่ชนะเลิศ จากสวนปันแสน จังหวัดตาก เกษตรกรผู้ผลิตสมุนไพรส่งออกไปอเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย สิทธา สุขกันท์ (ที่สองจากซ้าย) รองชนะเลิศอันดับ 1 จากกลุ่มข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร เกษตรกรผู้ส่งเมล็ดข้าวเปลือกให้กับคู่ค้า นำไปแปรรูปเป็นแป้ง เส้นพาสต้า และราเมง ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง (ที่หกจากซ้าย) รองชนะเลิศอันดับ 2 จากจันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรผู้ส่งออกผลสด และทุเรียนแปรรูป ไปประเทศจีน สิงคโปร์ ใต้หวัน เวียดนาม