1 ใน 4 ด้านที่สำคัญที่สุดคือองค์กรต้องปรับตัวเรื่องไอที โดยเฉพาะการทำบิ๊กดาต้า เนื่องจากเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญของปีหน้าคือ "อินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรม" ที่ทำให้ธุรกิจต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุด
สิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการปรับตัว 4 ด้านนี้คือการพัฒนาบุคลากร องค์กรควรวางกลยุทธ์ด้านคนให้รัดกุมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากความท้าทายหลักของการปรับตัวไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่คนในองค์กร
สอดคล้องกับรายงานจาก WEF เรื่อง The Future of Jobs 2020 ล่าสุดที่ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ก็ระบุเช่นกันว่า การล็อกดาวน์และเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานอย่างมาก และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Double Disruption” ครึ่งหนึ่งของพนักงานที่มีอยู่จำเป็นต้องการปรับทักษะใหม่ (Re-skill) และคนที่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม 40% ต้องเพิ่มทักษะ (Up-skill) การทำงานของตัวเอง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของการทำงานในรูปแบบใหม่
สถาบันไอเอ็มซีแนะธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างน้อย 4 ด้านเพื่อรับมือ 9 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงปี 64 ย้ำองค์กรต้องปรับตัวทั้งเรื่องรูปแบบการทำงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ และการเพิ่มความยืดหยุ่นให้บริการเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ยืนยันสังคมไทยหนีไม่พ้นแม้หลายบริษัทเริ่มเรียกพนักงานเข้าสำนักงาน กระตุ้นองค์กรพัฒนาคนให้ทันผ่านหลักสูตรใหม่ของไอเอ็มซีที่ปรับเปลี่ยนตามการวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ทุกปี
รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) กล่าวถึงแนวโน้มดิจิทัลปี 2564 ว่าการ์ทเนอร์ได้สรุปทิศทางปี 64 โดยมองสังคมโลกที่เปลี่ยนไปและการเกิดขึ้นของโควิด-19 ทั้งหมดมีผลทำให้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน การใช้ชีวิต การเว้นระยะห่าง และอีกหลายพฤติกรรม
"การ์ทเนอร์แบ่งเทรนด์เทคโนโลยีปี 2564 ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้คนยังเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง (People centricity) เพราะคนยังคงเป็นศูนย์กลางของธุรกิจที่จำเป็นจะต้องทำให้กระบวนการทำงานต่างๆถูกแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ กลุ่มที่ 2 คือความเสรีที่สถานที่ทุกแห่งสามารถทำงานหรือเรียนได้ (Location independence)
สอดรับกับรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม และกลุ่มที่ 3 คือธุรกิจต้องปรับและคล่องตัว จะต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามารองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (Resilient delivery) ทั้ง 3 ส่วนนี้จะกลายเป็นยุคใหม่ที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรมหรือ Internet of Behaviors ซึ่งธุรกิจต้องเข้าใจลูกค้า”
อินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรมถือเป็นแนวโน้มแรกที่การ์ทเนอร์ยกให้เป็นดาวเด่นแห่งปีหน้า ขณะที่แนวโน้มที่ 2 ที่ธุรกิจโลกจะมุ่งไปคือการรวบรวมประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งจากลูกค้า (customer experience), พนักงาน (employee experience) และผู้ใช้ (user experience) นำมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัย กลายเป็นนวโน้มเทคโนโลยีที่ 3
แนวโน้มที่ 4-6 เกี่ยวข้องกับตำแหน่งสถานที่หรือโลเคชัน ได้แก่ เทคโนโลยีคลาวด์แบบกระจาย การปรับรูปแบบของธุรกิจที่จะให้บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้ รวมถึงให้พนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้สถาปัตยกรรมแบบกระจาย
แนวโน้มที่ 7-9 โฟกัสที่การปรับตัวของธุรกิจ ได้แก่ การปรับให้บริษัทมีสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็ว การใช้วิศวกรรมระบบแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหากมีช่องทางทำระบบออโตเมชันได้ ธุรกิจก็ควรทำให้กระบวนการทำงานต่างๆเป็นระบบอัตโนมัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
"เพื่อให้ตอบ 9 เทรนด์นี้ ธุรกิจจะต้องทำ 4 ด้าน ได้แก่ การปรับกลยุทธ์ด้านการวางแผนสถาปัตยกรรมไอที จากการรวมศูนย์ให้เป็นการกระจาย อาจจะปรับให้ข้อมูลถูกเก็บไว้หลายที่ ทั้งพับลิกคลาวด์หรือที่ใดก็ได้ แต่ต้องทำให้บริการสร้างได้เร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องกระจายเรื่องความปลอดภัย จากที่กระจุกแต่ในบางส่วนขององค์กร ก็จะต้องกระจายให้ครอบคลุมทั่วทุกส่วนขององค์กร"
ด้านที่ 2 ที่องค์กรควรปรับตัวคือเรื่องไอที โดยเฉพาะการทำบิ๊กดาต้า เนื่องจากเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญของปีหน้าคือ "อินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรม" ทำให้ธุรกิจต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุดทั้งในส่วนของระบบ CRM และช่องทางโซเชียล และต้องให้สอดคล้องกับกฏหมาย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสร้างโซลูชันที่ตอบทุกฝ่าย
นอกจากนี้ ทุกองค์กรควรมองไปที่ระบบ AI โดยองค์กรควรลงมือหรือมองแนวทางทำออโตเมชัน รวมถึงเตรียมความพร้อมในส่วนวิศวกร เพื่อปรับให้บริการองค์กรสามารถปรับหรือเพิ่มระบบ AI ให้ฝังอยู่ในบริการ ด้านที่ 3 นี้สอดรับกับด้านที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรควรปรับให้มีการออกแบบแอปหรือบริการให้ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบความต้องการได้ตลอด
"4 แนวทางนี้จะสอดคล้องกับหลักสูตรที่สถาบันไอเอ็มซีเตรียมไว้สำหรับเทรนด์ปีหน้า จะประกอบด้วยหลักสูตรผู้บริหาร การวางแผน AI และเทคโนโลยีใหม่รวมถึงบล็อกเชน จะมีการให้ข้อมูลเชิงลึกที่ธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้"
สำหรับหลายธุรกิจไทยที่มีวัฒนธรรมองค์กรประณีประนอม สถาบันไอเอ็มซีมองว่าสังคมไทยมีความผสมผสาน ความเป็นไฮบริดอาจทำให้องค์กรไทยไม่ปรับใช้เทคโนโลยีเต็มที่ แต่ก็ต้องมีเทคโนโลยีไว้ตอบโจทย์ เรียกว่าอย่างไรก็หนีไม่พ้นเพราะวันนี้มีหลายปัจจัยสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการจากทุกที่ ทำให้ระบบงานขององค์กรต้องกระจายตัว
ภาวะนี้ยิ่งเห็นได้ชัดจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะองค์กรที่ไม่ได้เตรียมการ จะไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ดังนั้นทุกธุรกิจจะต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ว่าหลายองค์กรไทยจะเรียกพนักงานให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ว่าจะต้องกำหนดให้พนักงานหรือลูกค้าเดินทางไปศูนย์บริการเท่านั้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการรับบริการจากที่ใดก็ได้
"สิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการปรับตัว 4 ด้านนี้คือการพัฒนาบุคลากร สิ่งที่ไอเอ็มซีทำคือการกระตุ้นให้องค์กรวางกลยุทธ์ด้านคน เนื่องจากความท้าทายหลักของการปรับตัวไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่คนในองค์กร โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนปรับตัวได้มาก และยิ่งเร่งให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลหรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเกิดได้เร็วขึ้น อีกจุดที่ชัดเจนคือโมบายเพย์เมนต์ซึ่งคนไทยคุ้นเคย โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คนไทยปรับตัวได้เร็วเพราะถูกบังคับ จึงถือเป็นโอกาสดีที่องค์กรต้องปรับวัฒนธรรม ซึ่งหากวิธีคิดเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะต้องนำมาใช้ต่อให้เป็นประโยชน์ ต้องผสมและนำเอาหลักคิดใหม่เข้ามาใช้ให้การทำงานเกิดขึ้นได้มีประสิทธิภาพ"
นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้ทาง World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง The Future of Jobs 2020 ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะด้านทักษะการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเกิดวิกฤติโควิด ซึ่งทาง WEF ระบุว่า การล็อกดาวน์และเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานอย่างมาก และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Double Disruption”ทำให้ความต้องการตำแหน่งงานใหม่ๆ มีมากขึ้น WEF ได้ระบุตำแหน่งที่จะมี
ความต้องการอย่างมากในหลายด้านซึ่งส่วนใหญ่จะต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Data Analysis and Scientist, AI and Machine Learning Specialists, Big Data Specialists นอกจากนี้ยังมีงานใหม่ๆ อีกหลายด้าน ดังเช่น Customer Success Specialist, Digital Marketing and Strategy Specialist หรือ Digital Transformation Specialists
แม้ว่าคาดการณ์ตัวเลขการจ้างงานที่จะลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีปี 2025 จะลดลงไป 85 ล้านตำแหน่ง แต่ก็จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 97 ล้านตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับการหาบุคลากรในการทำงานอยู่ แต่ต้องการคนที่มีความสามารถ และปรับทักษะตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
จากการสำรวจพบว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานที่มีอยู่จำเป็นต้องการปรับทักษะใหม่ (Re-skill) และคนที่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม 40% ต้องเพิ่มทักษะ (Up-skill) การทำงานของตัวเอง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีทักษะทั้งทางด้านการใช้เทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล องค์ความรู้ด้านเอไอ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน รวมถึงทักษะความเป็นผู้นำ
สำหรับปีนี้ สถาบันไอเอ็มซีมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรตามการวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์และทักษะใหม่ตามที่ทาง WEF ระบุไว้ ทำให้มีการเน้นหลักสูตรด้านเอไอ บิ๊กดาต้า Data Science มากขึ้นกว่าทุกปี รวมถึงการวางสถาปัตยกรรมแบบกระจาย การทำไมโครเซอร์วิส ทั้งหมดออกแบบเพื่อให้องค์กรสร้างคนสำหรับการพัฒนาไปสู่อนาคตได้
"ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของการปรับตัวเพื่อรับมือเทรนด์ปี 64 ยังคงอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร วิสัยทัศน์ที่ควรมีคือการมองว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวหลักของธุรกิจ โดยต้องเอามาเป็นตัวขับเคลื่อน ใช้เป็นกลยุทธ์นำหน้าและมาก่อนเป็นอันดับต้น เพื่อเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานให้ยืดหยุ่นว่าเดิม” รศ.ดร.ธนชาติ กล่าว