Work from Anywhere เทรนด์ฮิตของการทำงานในยุคปกติใหม่ เมื่อโลกต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 และกลายเป็นวิถีการทำงานที่ใครๆ ก็เรียกร้อง เพราะสามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
ก่อนหน้านี้ Work from Anywhere เคยจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานแบบไร้ออฟฟิศหรือ Digital Nomads และคนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ แต่โลกหลังโควิด-19 วงการ Work from Anywhere ขยายไปถึงกลุ่มพนักงานประจำด้วย เช่น คนทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์และการเขียนเว็บ, ผู้จัดการเครือข่ายไอที, นักวิเคราะห์ข้อมูล, วิศวกรและสถาปนิก, คนทำงานออกแบบและสร้างสรรค์, นักเขียน, นักแปล, นักกฎหมาย, พนักงานด้านซัปพอร์ต, ส่วนงานบริการลูกค้า, นักการตลาดและงานขาย รวมถึงงานที่ปรึกษาและการบัญชี แปลว่าในอนาคตหากไวรัสดังกล่าวควบคุมได้ด้วยวัคซีน คนที่ทำงานที่ไหนก็ได้จะมีมากถึงหลักร้อยล้านคนทั่วโลก
สำหรับคนไทย หลายคนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อการ Work from Anywhere เช่น ระบบพื้นที่ทำงานร่วมกันออนไลน์หรือ Collaboration System และระบบจัดการโครงการหรือ Project Management ที่อำนวยความสะดวกให้ทุกคนในทีมตามงานกันได้แบบไม่ต้องเจอหน้ากัน ระบบนี้จะทำให้การไม่เข้าออฟฟิศไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งองค์กรสามารถเลือกใช้ได้แบบฟรีและเสียเงิน
แพลตฟอร์มเด่นที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนี้มีหลากหลายมาก ทั้ง Asana, Bitrix24, Jira, Monday, nTask, Quickbooks, Slack, Trello, Wrike, Xero และ Zipbooks เป็นต้น เหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มพื้นที่ทำงานที่พนักงานสามารถใช้ระบบเพื่อรับข้อมูล ส่งไฟล์ และอัปเดทประวัติการทำงานระหว่างกันได้แบบครบทุกแผนกผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบ VPN หรือ Virtual Private Network เครือข่ายส่วนตัวเสมือนที่จะช่วยเซฟความปลอดภัยของข้อมูลองค์กร
Work from Anywhere ผ่านแพลตฟอร์มฮิต
หลายคนแบ่งระบบพื้นที่ทำงานให้แยกส่วนกับระบบสื่อสาร โดยเลือกใช้ LINE โปรแกรมเมสเซนเจอร์สำหรับส่งข้อความทันที แชท ส่งรูป ส่งไฟล์งานในระยะเวลาสั้นๆ บางคนเลือกใช้โปรแกรมประชุมทางไกลอย่าง Zoom ซึ่งเป็น Online Conference Call Tools ที่สามารถใช้งานได้ฟรี 40 นาทีแรก โดยผู้ใช้สามารถแบ่งปันหน้าจอ Share Screen, ควบคุมหน้าจอผู้ร่วมประชุมจากระยะไกล Remoted Control, การคอมเม้นท์ร่วมกัน Annotate และสามารถบันทึกการประชุมได้
นอกจากนั้นยังมีระบบ Google Hangouts ที่ช่วยรับส่งข้อความ เสียง และวิดีโอ ทำให้ผู้ใช้สามารถสนทนาแบบตัวต่อตัวหรือแบบกลุ่มได้แบบไร้รอยต่อเมื่อใช้งานร่วมกับ Google Drive บริการพื้นที่เก็บ แชร์ และซิงค์ทุกไฟล์ข้อมูลที่ปลอดภัยด้วยชื่อ Google การันตี
Google ไม่ใช่รายเดียวที่ทำพื้นที่เก็บไฟล์ แต่ยังมี Dropbox บริการซิงก์และฝากไฟล์ข้อมูลแบบออนไลน์ ซึ่งสามารถแบ่งปันโฟลเดอร์ร่วมกับคนอื่นได้ รวมถึง Workplace by Facebook แพลตฟอร์มที่ Facebook ออกแบบมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือช่วยผู้ใช้ในการทำงานและการสื่อสารภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงรองรับการถ่ายทอดสดการประชุม Group Calling แต่ยังมีระบบวิเคราะห์ข้อมูล มีระบบย่อยคอยช่วยตอบคำถามและช่วยเหลือพนักงาน มีระบบอำนวยความสะดวกเรื่องกฎหมายต่างประเทศ รองรับการ Live หรือการถ่ายทอดสดการประชุม แถมยังมีระบบวิเคราะห์ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มย่อยด้วย
ล้ำสุดขีด Work from Anywhere ด้วยหุ่นยนต์
ความล้ำหน้าของการนำเทคโนโลยีสำหรับ Work from anyway นั้น ยังคงอยู่ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อ Family Mart ในประเทศญี่ปุ่น นำร่องใช้หุ่นยนต์ Model-T ที่พนักงานสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้จากระยะไกล อย่างน้อย 8 กม. ผ่านเทคโนโลยี VR ทำให้พนักงานคนเดียวสามารถเติมสินค้าได้หลายร้านโดยไม่ต้องเดินทาง แต่เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อจำกัด เพราะการใช้ VR จะต้องมีการฝึกฝน และการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ยังไม่รวดเร็วเท่ามนุษย์จริง คาดว่าภายในปี 2565 ทีมพัฒนาจะสามารถปรับแต่งจน Family Mart ใช้งาน Model-T ในกว่า 20 สาขาได้ก่อนจะขยายการใช้งานในร้านค้าทั้งหมดต่อไป
นอกจากนี้ยังมี Nissan บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ที่โชว์แนวคิดการออกแบบรถรุ่นใหม่ล่าสุดในชื่อ Office Pod รถรุ่นนี้ถูก Nissan วางเป้าหมายให้เป็นทางเลือกใหม่ที่ทุกคนจะมีโอกาสสัมผัสไลฟ์สไตล์การทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างสะดวกสบายในขณะเดินทาง จุดเด่นของ Office Pod คือมีดาดฟ้าเคลื่อนที่ ให้ผู้โดยสารสามารถปีนขึ้นไปพักผ่อนได้เต็มที่เมื่อถึงเวลาพักขณะ Work from Anywhere
4 ยักษ์ใหญ่นำร่องการทำงานแบบ Work from anywhere
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หลายองค์กรปรับตัวให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่าง Fujitsu ก็ได้เปิดตัวโซลูชันใหม่ FUJITSU Work Life Shift พลิกโฉมรูปแบบการทำงานสู่การทำงานในรูปแบบใหม่ ให้พนักงานของฟูจิตสึกว่า 130,000 คน สามารถทำงานจากทุกที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Fujitsu อธิบายว่าวิธีการทำงานแบบใหม่นั้นสามารถเพิ่มอิสระให้กับคนทำงาน อิสรภาพนี้เองที่จะช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และประสิทธิภาพในงานได้ดีกว่าการกำหนดสถานที่ให้กับพนักงาน อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้พนักงานบาลานซ์เวลาส่วนตัวและเวลางานได้ดีขึ้น จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการ Work from anywhere โดยเน้นโซลูชันหลักๆ ได้แก่
ทั้งนี้ Fujitsu เป็นบริษัทอันดับต้นที่นำร่องให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ ตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อปี 2020 เช่นเดียวกับ บริการโซเชียลมีเดียฮิตอย่าง Twitter มอบเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐให้พนักงานที่สมัครใจทำงานนอกออฟฟิศ
ส่วน Facebook ได้มอบเป็นเงินเยียวยาให้กับพนักงานที่ยินดีทำงานที่บ้าน 1,000 เหรียญสหรัฐและยังเตรียมบริการแพลตฟอร์มการ Work from Anywhere เน้นเทคโนโลยี AR/VR ที่กำลังพัฒนา และโซลูชันทั้ง Workplace, Rooms, Live Producer, Portal และ Oculus ให้การทำงานทางไกลราบรื่น
ด้านบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google เปิดทางให้พนักงานกว่า 200,000 คนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ และไม่ต้องเข้าออฟฟิศ Sundar Pichai CEO ของ Google เคยระบุว่าในอนาคต Google อาจทดสอบเพื่อหารูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยอาจจะให้พนักงานทำงานอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ในสำนักงาน เพื่อการทำงานร่วมกันกับเพื่อนพนักงาน ผสมไปกับวันที่เหลือซึ่งจะทำจากที่ไหนก็ได้
แม้ว่า 4 บริษัทระดับโลกอย่าง Fujitsu, Twitter, Facebook และ Google ประสบความสำเร็จจากการทำงานแบบ Remote จะไม่ได้ประกาศสถิติแง่บวกหรือลบอย่างเป็นทางการ แต่การทดลองของ Nicholas Bloom ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในแคลิฟอร์เนียผู้ศึกษาแนวทางการทำงานยุคใหม่ นั้นพบว่าการทำงานระยะไกลสามารถเพิ่มผลผลิตหรือเนื้องานได้มากขึ้นถึง 13%
หลังจากผ่านช่วงเวลาหลายเดือนที่เกิดการระบาดทั่วโลก หลายบริษัทจึงเริ่มถามกันมากขึ้นว่าควรหรือไม่ที่จะ Work from Anywhere ทำงานจากที่อื่นต่อไปเรื่อย ๆ และถ้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ไปแล้ว บริษัทจะเห็นการก้าวกระโดดในการผลิตเนื้องานแบบนี้ต่อไปในระยะยาวหรือเปล่า
คำถามเหล่านี้ยังรอให้ทุกธุรกิจสังเกตการณ์ และปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมให้ได้ หากใครทำสำเร็จ Work from Anywhere จะเป็นหนทางสู่ความสดใสของธุรกิจในยุค New Normal แน่นอน.
https://global.nissannews.com/ja-JP/releases/release-beb6420a9f2916baf13a4ed1503e7d89-210114-01-j