สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ประเมินว่าภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและอุทกภัยจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2030 คิดเป็นเงิน 17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 511 ล้านล้านบาท จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ยิ่งทำให้ภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการให้ดี มีการปล่อยน้ำทิ้ง โดยไม่นำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
เพราะน้ำคือปัจจัยในการผลิตที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย น้ำดิบ (Raw Water) น้ำสำหรับกระบวนการผลิตทั่วไป (Process Water) หรือน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ที่ต้องการความบริสุทธิ์สูงมาก และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภทอย่าง โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร
ส่วนน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว ก็จะถูกนำมาบำบัด (Wastewater Treatment) ตามมาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดไว้ว่าน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีค่าตามมาตรฐาน เช่น pH อยู่ในช่วง 5.5 - 9.0 อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส และมีสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีความจำเป็นต้องลดการใช้น้ำลง ส่งผลให้ค่ามาตรฐาน pH มีความเข้มข้น จึงต้องอาศัยระบบบำบัดน้ำเสียที่แม่นยำในกระบวนการบำบัดน้ำ แสดงให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบำบัดน้ำเสียที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10% ในแต่ละปี*
เราต้องนำเทคโนโลยีหมุนเวียนน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) มาใช้อย่างมีนัยยะ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม
เพื่อตอบรับการการขยายตัวของปริมาณการใช้งานน้ำในอุตสาหกรรม ทำให้ทางบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ผู้ให้บริการโซลูชั่นครอบวงจรด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค พลังงงาน และ ดิจิตัล แพลทฟอร์ม รายใหญ่ของประเทศไทย ปัจจุบันได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 12 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 68,900 ไร่ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำนวัตกรรมน้ำเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากการบำบัด ‘น้ำเสีย’ ให้หมุนเวียนกลับมาเป็น ‘น้ำดี’ เพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ จะช่วยให้ประเทศไทยแก้ปัญหาในการจัดการคุณภาพน้ำ และบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตน้ำให้แก่พื้นที่ EEC ตามแนวทางของ สทนช. โดยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรมนั้น มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 8.8% ระหว่างปี 2560 - 2565* โดยปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้มีการลงทุนในระบบ Wastewater Reclamation อย่างต่อเนื่อง มีกำลังการผลิตมากกว่า 30,000 ลบ.ม. ต่อวัน
น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีอย่าง 5G เข้ามาจะช่วยเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Smart Water Management) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เป้าหมายหลักในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รองรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และดึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาสู่ตลาดไทย
หนึ่งในเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทรานฟอร์มอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล คือ การนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพในการบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม ที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ให้ตรงตามความต้องการของแต่ละโรงงานในแบบเรียลไทม์ และช่วยเพิ่มความสามารถในการพัฒนาแผนจัดการคุณภาพน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมได้เพิ่มเติม จากที่ปัจจุบันดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีกำลังการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมกว่า 294,000 ลูกบาศก์เมตร แก่ผู้ประกอบการภายในนิคมฯ และมีกำลังการบำบัดน้ำเสียรวมวันละ 120,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่า น้ำเสียที่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการ และรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เมื่อนิคมอุตสาหกรรมมีการขยายตัว ทั้งนี้เป้าหมายของบริษัทฯ ในการพัฒนาการให้บริการสาธารณูปโภคด้านน้ำคือการบริหารจัดการอย่างครบวงจร ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ภายใต้ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะผ่านเครือข่ายที่มีความมั่นคงสูง สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าของบริษัทฯ ได้อย่างครอบคลุม
5G ติดปีกเซ็นเซอร์ IoT สู่การบริหารจัดการน้ำในนิคมฯ ทั่วประเทศ
เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และ ดีแทค ในการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามายกระดับเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ จากเซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำ นำไปสู่การวิเคราะห์และบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำ 5G มาใช้ในระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Management) ร่วมกับอุปกรณ์อย่าง Massive Machine Type Communications (mMTC) หรือ Massive IoT ช่วยในการมอนิเตอร์คุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรม ช่วยลดความผิดพลาดในการดูแลคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะค่าความเป็นกรดและด่าง (pH) ร่วมกับการนำเซ็นเซอร์ที่ช่วยวัดค่าออกไซด์ในน้ำ วัดระดับการขึ้น-ลงของน้ำ มาส่งข้อมูลผ่านโครงข่าย 5G ที่มีความเสถียร และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้สามารถเฝ้าระวังกรณีระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับกำลังการผลิตน้ำให้เพียงพอกับการใช้งาน โดยที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่ รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอุปโภคบริโภค ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับในพื้นที่ของแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีความต้องการระบบสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการนำเทคโนโลยี 5G ของดีแทค มาร่วมบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) ที่มีพื้นที่โครงการกว่า 3,760 ไร่ ด้วยการนำเซ็นเซอร์ IoT ที่เชื่อมต่อผ่านโครงข่าย 5G มาใช้งาน จะช่วยให้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สามารถบริหารจัดการน้ำในนิคมฯ ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการลงด้วย
ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาดีแทคให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพันธมิตร ในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ 5G ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทรานฟอร์มภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล สร้างโอกาสในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย หนึ่งในนั้นคือการนำ 5G มาใช้กับระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ ที่จะผลักดันให้รูปแบบของการให้บริการสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำข้อมูลที่ได้แบบเรียลไทม์ และแม่นยำ จากเซ็นเซอร์ IoT จำนวนมหาศาล มาช่วยสร้างโอกาสในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ก่อนต่อยอดสู่การนำไปใช้งานในระดับประเทศ
“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี 5G บนคลื่นความถี่ 26 Hz หรือ mmWave ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากรองรับการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง ไปพัฒนาต่อยอดสู่การบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ เพื่อรับกับการแข่งขันในยุคดิจิทัล รวมถึงใช้ในการรับมือกับเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนี้”
สำหรับ 5G Use Case ในการบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยี 5G ของ ดีแทค เข้ามาผสมผสานกับการทำงานในภาคอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมกลับมาเติบโต ต่อเนื่องมายังการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พลิกฟื้นกลับมาได้ด้วยการนำ 5G ไปใช้งาน และตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ที่พร้อมขยายการลงทุนสู่ระดับภูมิภาค