9 ก.พ. 2564 740 0

เอไอเอส ต่อยอดโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ในวัน Safer Internet Day

เอไอเอส ต่อยอดโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ในวัน Safer Internet Day

เอไอเอส ต่อยอดโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ในวัน Safer Internet Day ผนึกกรมสุขภาพจิต ร่วม MOU เตรียมพัฒนาแบบเรียนออนไลน์สร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัล ให้คนไทยใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย เอไอเอส ส่งความห่วงใยให้คนไทยยุคโควิด-19 ที่ใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ หลังผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในเดือนมกราคม ปี 2564 พบว่าประชาชนทั่วไปมีความเครียดสูง 6.25% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 7.85% มีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย 4.07% และมีภาวะเสี่ยงหมดไฟ 6.93% ดังนั้นจึงต่อยอดโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” มุ่งสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง Cyber Wellness เพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างถูกวิธี ล่าสุดถือฤกษ์วัน Safer Internet Day ผนึกกำลังกรมสุขภาพจิตร่วมลงนามความร่วมมือ จัดทำแพลตฟอร์มหลักสูตรการเรียนรู้ดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน เตรียมเปิดตัวในไตรมาส 2 ของปี 2564


สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “จากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต พบว่าสื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตทั้งเป็นประโยชน์และอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ รวมถึงยังทำให้เกิดปัญหาสภาวะทางจิตใจตามมา ดังนั้นการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล

จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ในวาระวัน Safer Internet Day ที่รณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนไทยทุกคน เล็งเห็นถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และใช้งานอย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคม เอไอเอสในฐานะ Digital Life Service Provider มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสร้างการตระหนักรู้ในเรื่อง Cyber Wellness เพื่อให้คนไทยเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเดินหน้าสานต่อโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ในการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ผู้มีความเชี่ยวชาญและมีองค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางดิจิทัลอย่างแท้จริง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดีที่สุดบนเครือข่ายที่ปลอดภัย โดยได้ร่วมลงนามความร่วมมือ กับกรมสุขภาพจิต เพื่อสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้แก่คนไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และพัฒนาทักษะทางดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้เยาวชน และคนไทย ใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันและป้องกันความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยจะเปิดให้ใช้บริการภายในไตรมาส 2 ของปี 2564 นี้”


ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนไทยและทั่วโลก โดยในปัจจุบัน พบว่า ช่องทางออนไลน์และดิจิทัลกลายเป็นช่องทางสื่อสารหลักในชีวิตประจำวันของคนไทย ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก การที่คนไทยมีความรู้ในการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และสร้างสรรค์ ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและจิตของตนเอง ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองรับมือภัยบนโลกออนไลน์ และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทยได้ในระยะยาว ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนา Cyber Wellness ให้แก่คนไทย โดยมี Mental Wellness เป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อเป้าหมายในการสร้างพลเมืองด้านสุขภาพจิต หรือ Mental Health Citizen ในอนาคตทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์กรมสุขภาพจิตจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ เอไอเอส ในการดูแลสุขภาพจิตที่ดีของคนไทยไปพร้อมๆ กัน”

“ความร่วมมือระหว่างเอไอเอส และกรมสุขภาพจิตในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจสำคัญที่จะช่วยสร้างเกราะกำบังที่แข็งแกร่งทั้งในด้านภูมิปัญญา และด้านจิตใจให้กับคนไทย และเพื่อเป็นการสนับสนุนทุกคนใช้งานอินเทอร์อย่างปลอดภัย และมีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็งไปด้วยกันในสถานการณ์นี้” สายชล กล่าวสรุป

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ https://www.facebook.com/ais.sustainability