ความแตกต่างหลากหลาย’ ถือเป็นหนึ่งคุณค่าที่สำคัญที่ดีแทคใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ดีแทคเชื่อว่าบริการที่มาจากการ ‘สร้างสรรค์ร่วมกัน (create together)’ จากหลากหลายมุมมองและองค์ประกอบจะนำมาซึ่งบริการที่เท่าเทียมและทั่วถึง อีกทั้งเชื่อว่าองค์กรที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่สมดุล (balanced workforce) เป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จขององค์กร ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงผ่านนโยบายและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เนื่องในวันสตรีสากล 2564 หรือ International Women’s Day ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ดีแทคของร่วมเป็นอีกหนึ่งเสียงในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมเฉลิมฉลองกับบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงในแวดวงธุรกิจ ด้วยการส่งต่อเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจจาก 5 ผู้นำหญิงจากดีแทค
ทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานขาย
ทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม หรือ ‘พี่เจี๊ยบ’ ของชาวดีแทค เป็นผู้บริหารที่คร่ำหวอดในหลากหลายแวดวงและองค์กรทั้งในและต่างประเทศ มานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ที่บริษัทที่ปรึกษา การเงินการธนาคาร ค้าปลีก และโทรคมนาคม
ปัจจุบันมีผู้หญิงที่มีบทบาทในระดับบริหารขององค์กรธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของความสามารถมากกว่าเรื่องเพศ ทุกคนอยู่บนพื้นฐานของมาตรวัดในการทำงานเดียวกันไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม ในอดีต ผู้หญิงอาจมีอุปสรรคในการได้รับโอกาสในการทำงานบางประเภท บางอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบัน สังคมไทยมีความก้าวหน้าขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ ผู้หญิงได้รับเลือกดำรงตำแหน่งในระดับบริหารมากขึ้น มีบทบาทในงานที่ใช้ทักษะการวิเคราะห์มากขึ้น ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญทางเพศและเป็นอีกหนึ่ง Breakthrough ของสังคมไทยเลยก็ว่าได้
“ความเป็นผู้หญิงมีจุดแข็งบางอย่างที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ เช่น ทักษะการโน้มน้าว เปิดใจ การประสานสิบทิศ ทำให้องค์กรพิชิตเป้าหมายได้เร็วขึ้น” พี่เจี๊ยบกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงมักเผชิญอุปสรรคในเส้นทางการทำงานอยู่บ้าง โดยเฉพาะข้อจำกัดทางร่างกายและกรอบทางสังคม เข่น การมีประจำเดือน และการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจัยหลังนี้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการทำงานอย่างมาก ดังนั้น การมีนโยบายลาคลอด 6 เดือนของดีแทค ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยลดอุปสรรคให้พนักงานหญิงยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ทั้งในบทบาทแม่ และในฐานะคนทำงาน ส่งเสริมโอกาสในการเติบโตทางการงานและความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นบนการทำงาน เมื่อครบ 6 เดือนแล้ว ผู้หญิงก็สามารถกลับมาทำงานต่อได้ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีความก้าวหน้าในอาชีพต่อโดยกำจัดอุปสรรคทางร่างกายออกไป
“ในอดีต ผู้หญิงมักเผชิญกับทางสองแพร่งในชีวิต จะต้องเลือกว่าจะเอาครอบครัวหรือการทำงาน แต่ปัจจุบัน การให้สิทธิลาคลอดสำหรับผู้หญิง 6 เดือน ช่วยให้ผู้หญิงสามารถสร้างสมดุลระหว่างครอบครัวและการทำงานได้ดียิ่งขึ้น” พี่เจี๊ยบอธิบาย
หากให้เลือก #ChooseToChallenge เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ พี่เจี๊ยบจะ Challenge อะไร?
“พี่ขอ challenge ความสามารถของผู้หญิง ในโลกที่เปลี่ยนแปลงในอัตราเร่ง เราต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัย เอาชนะขีดจำกัดต่างๆ ที่มากับความเป็นผู้หญิง วิ่งชน ‘เพดานกระจก (Glass ceiling)’ ของตัวเองเสมอ”
ชุติมา ถิรมานิต ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริหารสินทรัพย์ กลุ่มงานการเงิน
ที่ผ่านมา วงการธุรกิจไทยมีพัฒนาการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นมาก เราเห็นโอกาสที่มากขึ้นสำหรับผู้หญิง ซึ่งถือเป็นแรงกระเพื่อมของความสำเร็จจากหลายองค์กรที่นำโดยผู้หญิง และนี่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของสังคมที่มุ่งเน้นพัฒนาคนจากศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียม
“พี่มองว่า Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ เป็นลักษณะเด่นของผู้หญิงที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้มากขึ้น ยิ่งในยุค customer centricity หรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจยิ่งจำเป็นต้องมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจลูกค้าให้มาก เราถึงจะชนะใจลูกค้าได้” เธอกล่าว
นอกจากความเห็นอกเห็นใจแล้ว ผู้หญิงยังมีความเป็นนักวางแผนอีกด้วย ในด้านชีวิตส่วนตัว การมีนโยบายลาคลอด 6 เดือน ช่วยทำให้ผู้หญิงวางแผนชีวิตได้ดีมากมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงจัดการความคิดของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการให้โอกาสและสร้างความเท่าเทียมทางเพศกับผู้หญิง ซึ่งจากประสบการณ์กับน้องในทีม นโยบายลาคลอด 6 เดือนช่วยให้พวกเขาสามารถจัดสรรเวลาได้ดียิ่งขึ้น สร้างสมดุลระหว่างครอบครัวและชีวิตส่วนตัวได้ โดยที่พวกเขาไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
หากให้เลือก #ChooseToChallenge เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คุณชุติมาจะ Challenge อะไร?
“พี่ขอ challenge ความเชื่อมั่นของผู้หญิงเราเอง ขอให้เราเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราสามารถทำได้ แล้วเราจะผ่านอุปสรรคทางเพศและกรอบทางสังคมต่างๆ ไปได้”
พลอย จาตุกัญญาประทีป ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดระบบรายเดือน
อีกหนึ่งสาวเก่งของดีแทค ผู้มีประสบการณ์การทำงานอันโชกโชนทั้งต่างประเทศและในประเทศ เธอบอกว่า “เรื่องเพศไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเธอเลย ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานล้วนเป็นผลมาจากความสามารถ ในมิติทางสังคมเอง วงการธุรกิจไทยมีความเปิดกว้างเรื่องเพศมานานและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น สังเกตได้ตัวเลขผู้บริหารหญิงต่อชายที่มีสัดส่วนมากขึ้นเป็นลำดับ”
แม้บริการโทรคมนาคมจะถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน มีความเป็น inclusive อยู่แล้ว แต่เธอเชื่อว่าในมิติด้านการตลาด ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาและออกแบบให้บริการให้ทั่วถึงมากขึ้น เข้าใจความต้องการของผู้หญิงเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มคุณแม่มือใหม่ เป็นต้น
ในชีวิตการทำงาน นอกจากจะได้รับความไว้วางใจให้ก้าวมาดูแลงานการตลาดลูกค้ารายเดือนเเล้ว ในชีวิตส่วนตัว เธอยังรับบทบาทคุณแม่มือใหม่อีกด้วย และนี่ทำให้เธอเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายที่ช่วยทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ
“นโยบายลาคลอด 6 เดือนช่วยให้ผู้หญิงกลับเข้ามาต่อติดเส้นทางการทำงานเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 6 เดือนเป็นช่วงระยะที่พอดีกับการทำหน้าที่แม่ในระยะแรก เมื่อเทียบกับ 3 เดือนที่มันยากเหมือนกันสำหรับคนที่เป็นแม่ ที่การพักผ่อนอาจไม่เพียงพอ การเลี้ยงเด็กเล็กยังไม่เข้าที่ นอกจากนี้ พลอยยังมองว่าการสนับสนุนให้ผู้ชายได้มีส่วนร่วมกับครอบครัวในระยะแรกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน”
แน่นอนว่าในยุคโควิด-19 ที่หลายคนต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น บางครั้งผู้หญิงอาจเผชิญกับ ‘เส้นบางๆ’ ระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานที่ต้องจัดการ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้หญิงมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายอีกมิติของคนที่เป็นแม่และผู้หญิงในยุคโควิด
หากให้เลือก #ChooseToChallenge เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คุณพลอยจะ Challenge อะไร?
“พลอยขอ challenge การสร้างบทบาทที่สมดุลของผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีบทบาทที่หลากหลายทั้งในชีวิตทำงานและส่วนตัว”
อลิสรา ปันวิชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารและวางกลยุทธ์โครงข่าย
อลิสราหรือพี่อร เป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่ทำงานอยู่ในกลุ่มงานเทคโนโลยีของดีแทค แต่ใครจะรู้ว่า เธอผู้นี้นี่แหละที่รับบท “กุนซือ” วางแผนกลยุทธ์ขยายโครงข่าย เพื่อให้ลูกค้าดีแทคสามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ย้อนกลับไปราว 10 กว่าปีที่แล้ว มีสัดส่วนของผู้หญิงที่เรียนในคณะวิศวกรรมอยู่ราว 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าห้องนึงมีจำนวนนักเรียนราว 30 คน ก็มีนักศึกษาหญิงใส่เสื้อช็อปอยุ่เพียง 6-7 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ด้วยสังคมที่เปิดกว้างขึ้นก็ทำให้มีจำนวนนักศึกษาหญิงที่มาเรียนวิชาทางวิศวกรรมมากขึ้น
“หลายคนมักจินตนาการว่าเรียนวิศวกรรมก็ต้องทำงานออนกราวด์ ออกภาคสนามทั้งหมด แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงสามารถทำงานวิศวกรรมได้อย่างดี ผู้หญิงเริ่มมีบทบาททางวิศวกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้นในส่วนของการวางแผนและงานขาย ซึ่งถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญและพัฒนาการที่ดีขึ้นของวงการ หลังๆ นี้ เราก็เห็นผู้หญิงที่ทำงานออนกราวด์มากขึ้นด้วยซ้ำไป” เธออธิบาย
แต่ด้วยเนื้องานที่ต้องใช้เวลาและทำงานอย่างหนักตลอดเวลา โดยเฉพาะบริการโทรคมนาคมที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้เธอเองและผู้หญิงหลายคนอาจเผชิญกับปัญหาการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและส่วนตัว อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าการโฟกัสกับเป้าหมายจะช่วยให้การสร้างสมดุลดีขึ้นได้ เมื่อทำงานก็ใช้เวลาให้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสารกับคนที่เขารัก กับงานที่เขาทำได้ดีที่สุด เช่นเดียวกับ เวลาครอบครัว เธอก็จะใช้เวลากับลูกให้ดีที่สุด ให้เวลานั้นๆ เป็นช่วงเวลาแห่งคุณภาพที่สุดสำหรับครอบครัว
หากให้เลือก #ChooseToChallenge เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คุณอรจะ Challenge อะไร?
“อรขอ challenge ความเคารพต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของทุกคน ให้ทุกคนเคารพซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม และเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคน”
รัชญา กุลณพงษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายความยั่งยืน
จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา คุณรัชญามองว่า เพศไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเธอ และโอกาสในการทำงานนั้นมีอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมุ่งเน้นจากความสามารถเป็นหลัก “อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดทางร่างกายแล้ว ผู้หญิงอาจมีภาระหน้าที่อยู่บ้าง เช่น การตั้งครรภ์ ซึ่งนโยบายลาคลอด 6 เดือนได้ทำหน้าที่ในการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้หญิงในการทำงานให้เท่าเทียมขึ้น สะท้อนถึงหลักการออกแบบนโยบายที่คำนึงถึงบุคลากรกลุ่มต่างๆ ในองค์กรอย่างเท่าเทียม (Policy by Design)” เธออธิบาย
หากให้เลือก #ChooseToChallenge เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คุณนิ่มจะ Challenge อะไร?
“นิ่มขอ challenge การเหมารวมทางเพศหรือ gender stereotype สังคมไทยยังคงเผชิญกับมายาคติทางเพศบางประการ เช่น ผู้หญิงต้องอ่อนแอ ผู้ชายร้องไห้ไม่ได้ ซึ่งในกระบวนทัศน์ของโลกยุคใหม่ การเหมารวมทางเพศแบบเดิมอาจล้าสมัยไปแล้ว”
Fact and Figures
ดีแทค เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนจำนวนพนักงานที่เป็นเพศหญิงมากที่สุดในกลุ่มเทเลนอร์ โดยมีสัดส่วนที่ 61% ตามด้วย Digi ของมาเลเซียที่ 50% เมียนมา 37% เดนมาร์ก 34% สวีเดน 33% นอร์เวย์ 32% ปากีสถาน 20% และกรามีนโฟนของบังคลาเทศ 12%
สัดส่วนผู้หญิงที่รับตำแหน่งในระดับบริหารนั้นอยู่ที่ 31% ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2559