18 มี.ค. 2564 871 0

เปิดคัมภีร์ Chat Commerce กลยุทธ์ที่ “ใช่” ขับเคลื่อนธุรกิจ SME ไทยให้รอด ยอดขายเปรี้ยงสุดปัง

เปิดคัมภีร์  Chat Commerce กลยุทธ์ที่ “ใช่”  ขับเคลื่อนธุรกิจ SME ไทยให้รอด ยอดขายเปรี้ยงสุดปัง

ปิดฉากอย่างสวยงาม  สำหรับงานออนไลน์สุดยิ่งใหญ่ THAILAND NOW AND NEXT: REBUILD & REFORM WITH CHAT COMMERCE ที่จัดขึ้นตลอด 3 วันโดย LINE ประเทศไทย งานนี้ชี้ช่องทางผู้ประกอบการเข้ามาเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับ Chat Commerce กลยุทธ์แห่งอนาคตที่ใช่สำหรับคนไทยในเวลานี้ โดยอัดแน่นด้วยเทรนด์สำคัญ พร้อมความรู้ในเชิงปฏิบัติผ่านตัวอย่างการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME ไทยที่นำเอา Chat Commerce มาฟื้นตัวธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤต นำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จได้ และยังใช้ต่อเนื่องเพื่อสร้างยอดขายที่เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นเหมือนคัมภีร์หรือคู่มือสู่เป้าหมายที่อยากส่งต่อให้เพื่อนร่วมทางธุรกิจนำเอาเทคนิคไปปรับใช้ต่อยอดธุรกิจได้เช่นกัน

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเทรนด์แชทคอมเมิร์ซเข้ามามีบทบาทในการค้าขายออนไลน์สร้างการเติบโตให้กับอีคอมเมิร์ซในไทยได้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมในปัจจุบันราว 270,000 ล้านบาท พบช่องทางการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเรียกว่า Social Commerce รวมทั้งเทรนด์การทำธุรกิจสไตล์แชทก่อนช้อป (Chat Commerce) มากถึง 62% เลยทีเดียว จึงอาจพูดได้ว่านี่ไม่ใช่แค่ทางเลือกในการซื้อขายอีกต่อไป แต่ Chat Commerce กำลังเป็นปัจจุบันและอนาคตของการทำธุรกิจออนไลน์สำหรับคนไทยไปแล้ว

ปั้นธุรกิจฝ่าวิกฤตด้วย ‘แชท’

งานนี้มีไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SME นั่นคือ “เสวนาถอดเคล็ดลับความสำเร็จจากเจ้าของธุรกิจ SME” โดย LINE ประเทศไทย เริ่มชวนสนทนาผ่านหัวข้อ “เคล็ดลับปั้นธุรกิจด้วยแชทบน LINE OA” ซึ่ง ธเนศ จิระเสวกดิลก CEO & Founder แบรนด์ Divana Spa เผยว่าแบรนด์ตนเองได้เบนเข็มเข้ามารุกตลาดออนไลน์เต็มที่ด้วยการเลือกใช้ LINE Official Account เพราะมองว่าเป็นช่องทางติดต่อลูกค้าคนไทยได้ชัดเจน ถูกต้อง เข้าถึงมากที่สุดและทำได้ทุกที่ทุกเวลา ควบคู่ไปกับการปรับ Mindset ของทีมงานให้เข้าใจลูกค้าคนไทย พัฒนาทักษะการให้บริการ ด้วยคำว่า จริงใจ ใส่ใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกค้า และอาศัยเครื่องมือ LINE OA ในการเก็บ Data มาประยุกต์ใช้ยึดใจลูกค้าให้สำเร็จด้วยหลัก Customer Centric ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้หลังการใช้ LINE OA เห็นยอดขายสูงถึงเจ็ดหลักภายในหนึ่งเดือนแม้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย


ส่วนผู้นำเข้าแบรนด์ Back Joy ผลิตภัณฑ์ปรับสมดุลสรีระทั้งร่างกายได้นำวิธีการ LINE OA มาพัฒนาใช้กับการขาย เริ่มจากการบรอดแคสต์เพื่อโปรโมทกิจกรรมการขายแบบออฟไลน์ก่อนในช่วงแรก ต่อมา ได้เรียนรู้วิธีการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ใน LINE OA ควบคู่กับเครื่องมือ MyShop ในการปิดการขาย พร้อมให้ความรู้การใช้ผลิตภัณฑ์และทำคอนเทนต์ต่างๆ ให้น่าสนใจ จนสามารถครองใจลูกค้าได้ โดย อิสรา นราทิพย์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ทาร์เก็ต กรีน จำกัด เผยว่า การใช้เครื่องมือทั้งสองนี้ช่วยให้สามารถปิดการขายได้เร็ว รักษาฐานลูกค้าไว้ได้ สร้างสัมพันธ์ต่อๆ ไป ซึ่งจากสถิติพบกว่า 90% ของออเดอร์มาจากลูกค้าที่กดซื้อผ่าน LINE OA แทบทั้งสิ้น

ใช้ฟีเจอร์ ‘แชท’ ให้ครบ จบการขายแถมสร้างความประทับใจให้ลูกค้า 

ต่อด้วยหัวข้อการพูดคุย “ธุรกิจแฟชั่นต้องฟัง ใช้ LINE อย่างไรให้ขายดี” กับข้อดีของ LINE OA ที่สามารถปรับใช้ได้กับธุรกิจทั้ง B2B และ B2C ซึ่ง สน จันทร์ศุภฤกษ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ SUITCUBE ผู้สร้างสรรค์สูทสำเร็จรูปเพื่อคุณผู้ชาย เลือกใช้ฟีเจอร์หลัก Rich Menu, Card Message และ Chat เป็นเคล็ดลับมัดใจให้จีบลูกค้าติด บนพื้นฐานการคิดแบบ “ทำตัวเป็นลูกค้า” ไม่เน้นฮาร์ดเซลล์ จับลูกเล่นการใช้ Chatbot มาสร้างเป็นอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ตนเองสู่ “แอดมินเสียงใส” ให้คำตอบที่พึงใจ สุภาพกันเองเหมือนเพื่อน ให้เกียรติลูกค้าและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้า พร้อมซื้อโฆษณาเองผ่าน LINE Ads Platform (LAP) เพื่อทำให้แบรนด์ตนเองเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

สำหรับธุรกิจผลิตชุดยูนิฟอร์มซึ่งเป็นธุรกิจแบบ B2B นั้น ภวรัณชน์ มงคลสุข ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด PMK Polomaker เผยว่า ฟีเจอร์ต่างๆ ใน LINE OA ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานของทีมเป็นอย่างมาก อาทิ Chat Tag ที่ช่วยแบ่งจำแนกกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาผ่านแชทได้สะดวกสบาย ทำให้สามารถดูแลลูกค้าได้เป็นพิเศษมากขึ้น และ Note ฟีเจอร์ที่ช่วยเตือนความจำถึงรายละเอียดลูกค้าแต่ละคนได้ ทำให้คนทำงานใหม่สานต่อดูแลลูกค้าเดิมต่อได้ทันที บวกกับการใส่หัวใจบริการที่ยึดเรื่องความจริงใจ สดใส เข้าถึงง่ายกับลูกค้า ทำให้แบรนด์สามารถสื่อถึงความเอาใจใส่ ทำให้ลูกค้าประทับใจ และพร้อมช่วยเหลือ อุดหนุนทุกกิจกรรมการขายเป็นอย่างดี

เป็นมากกว่าการสื่อสาร แต่คือ ‘คอมมิวนิตี้’ ‘ศูนย์รวมบริการ’ ให้คนสำคัญ

ที่ขาดไม่ได้เลยคือธุรกิจอาหาร ซึ่ง Chat Commerce  มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว กับการ “เปิดกลยุทธ์ร้านอาหารแชทยังไงให้ปัง” ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเข้ามาของโควิดคือจุดเปลี่ยนมาสู่ออนไลน์ โดย ชุติมา อนันรยา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ The SummerCoffee เจ้าของโรงคั่ว ขายเมล็ดกาแฟและอุปกรณ์ชงกาแฟ กล่าวว่าด้วยลักษณะธุรกิจของตนเป็นแนวให้บริการมากกว่าแค่การขายสินค้า เพราะต้องให้ความรู้ เทคนิคการเลือกเมล็ดกาแฟ การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ทำให้มองว่า Chat เป็นมากกว่าการสื่อสารแต่เป็นคอมมิวนิตี้ เพื่อสร้างสัมพันธ์แบบเพื่อนกับลูกค้า โดยใช้พื้นที่นี้ให้ข้อมูล คำแนะนำเชิงลึก เพื่อทำให้ลูกค้าประทับใจกลายเป็นเพื่อนสนิทที่รู้ใจกัน พร้อมการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ เช่น Chat tag, Quick replies มาอำนวยความสะดวกในการขาย เชื่อมต่อ LINE OA กับเครื่องมือ MyShop ให้ลูกค้าดูคอนเทนต์แล้ว หากสนใจ สามารถกดสั่งซื้อสินค้าได้ทันที


ด้าน ธนาวลัย เหล่าเราวิโรจน์ ผู้อำนวยการด้านการตลาดออนไลน์เครือสุพรรณิการ์กรุ๊ป เผยว่า Chat Commerce  เป็นเทรนด์การสื่อสารกับลูกค้าที่ทันสมัย ซึ่ง LINE OA เป็นเครื่องมือที่ลูกค้าใช้แล้วถนัด และถือเป็นแหล่งให้ข้อมูลครบจบในที่เดียว ลูกค้าไม่ต้องมองหาจากหลายที่ โดยหากวางแผนการจัดวางคอนเทนต์ใน LINE OA ให้ดี เราสามารถทำให้ LINE OA เป็นศูนย์รวมข้อมูล บริการของร้านอาหารได้เลย โดยมีทางเลือกหลากหลายเหมาะกับสไตล์คนกินที่ต่างกัน ตอบโจทย์ทั้งคนชอบคุยก็ใช้การสั่งซื้อผ่านแชท หรือจะเลือกสั่งเองผ่านฟีเจอร์ Rich Menu ที่เชื่อมต่อตรงไปยังเดลิเวอรี่ของ LINE MAN ก็ทำได้ทันที ช่วยทำให้ออเดอร์แม่นยำและประหยัดเวลาทั้งฝั่งคนสั่งซื้อและคนขายได้นั่นเอง

ถือว่าเทคนิคของผู้ประกอบการทั้ง 6 แบรนด์เป็นแนวคิด Chat Commerce ทรงพลังที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะว่า จะเลือกใช้อย่างไรให้เหมาะกับธุรกิจ ที่สำคัญต้องไม่รีรอที่จะลงมือทำให้เร็วที่สุด ติดตามชม “เสวนาถอดเคล็ดลับความสำเร็จจากเจ้าของธุรกิจ SME” ทั้ง 3 หัวข้อ พร้อมหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจจากงาน THAILAND NOW AND NEXT: REBUILD & REFORM WITH CHAT COMMERCE ย้อนหลังได้ที่ https://tv.line.me/lineforbusiness และติดตามอัพเดทความรู้ ข่าวสารสำหรับผู้ต้องการทำธุรกิจผ่าน LINE ได้ที่ LINE Official Account: @linebizth และ FB Fanpage: LINE for Business