สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลังภาครัฐ กลต. ปลดล็อกการเข้าถึงแหล่งทุนของสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทย จัดเสวนาออนไลน์กับสตาร์ทอัพชั้นนำ เคลียร์ทุกข้อสงสัยเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อผู้ประกอบการ หวังขยายโอกาสการเติบโตสู้สตาร์ทอัพต่างประเทศผลักดัน ECOSYSTEM ให้เกิด นำเศรษฐกิจไทยสู่แข่งขันในเวทีโลกอย่างยั่งยืน
วันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สภาดิจิทัลฯร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. จัดให้มีการเสวนาออนไลน์ผ่านทางรายการ “DCT DIGITAL FUTURE TALKS” ขึ้น ในประเด็น “ปลดล็อก Crowdfunding, ESOP และ Convertible Note เพื่อ Digital Startups ฟังตรงจาก ก.ล.ต.”การเสวนานี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรสำคัญ ได้แก่ คุณไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์2(ก.ล.ต.),ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพชั้นนำ 2 ราย ได้แก่ คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวคิว(ประเทศไทย) จำกัด และคุณภีม เพชรเกตุ Founder & CEO บริษัท PEAK (PeakAccount.com) “การเสวนานี้มุ่งหวังที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจพร้อมไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ (เช่นCrowdfunding, ESOP และ Convertible Note เป็นต้น) ที่ช่วยระดมทุนให้แก่สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยภายหลังที่ กลต. ได้มีการออกประกาศไปแล้วเกี่ยวกับนโยบาย และกฎระเบียบต่างๆ ของเครื่องมือในการช่วยระดมทุนเพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดทุนได้ แต่อาจยังมีกลุ่มผู้ประกอบการหลายรายที่ยังคงไม่ทราบรายละเอียดและขั้นตอนในแต่ละกระบวนการอย่างแท้จริง ทำให้มีโอกาสที่กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าถึงแหล่งทุนได้มีจำนวนน้อย ส่งผลต่อการขยายการเติบโตในธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยในอนาคต เมื่อเทียบกับการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยยังคงเป็นรองประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามหากพิจารณาเทียบจากจำนวนและขนาดของสตาร์ทอัพประกอบกับปริมาณการลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”ดร.อธิป อัศวนานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าว
ในการเสวนาทาง กลต. ได้อธิบายถึงรายละเอียดและหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องมือสำคัญในการระดมทุนรวมทั้งได้มีการสะท้อนปัญหาและอุปสรรคของสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยที่ยังขาดความเข้าใจและยังไม่เห็นถึงประโยชน์ของตลาดทุน, กฏเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยกับการระดมทุน รวมทั้งขาดช่องทางในการลงทุนในธุรกิจ โดยบางช่วงของการเสวนา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อสงสัยร่วมกับสภาดิจิทัลฯ และตัวแทนสตาร์ทอัพทั้ง2รายในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น รูปแบบการระดมทุน ESOP เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ดี มีผลต่อการสำเร็จธุรกิจอย่างมาก เป็นการสร้างความเป็นเจ้าของธุรกิจให้แก่พนักงาน, การปลดล็อกภาษีประเด็นCapital Gain Tax เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่งเสริมให้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (Matching Fund) มากขึ้นซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่แล้ว Startup ยังสามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองหรือลดการกดดันจาก VC ต่างประเทศที่มักบังคับให้ Startup ไทยไปจดทะเบียนที่ประเทศอื่นอีกด้วย ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันและนำเสนอข้อคิดเห็นต่อกรมสรรพากรต่อไปนอกจากนี้ประเด็นการกำหนดคุณสมบัตินักลงทุนที่ กลต. ต้องพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่าง ผู้ประกอบการ (Issuer) ทำอย่างไรให้ระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม รวมไปถึงการคุ้มครองที่เหมาะสมแก่นักลงทุนต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการเสวนา ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการ สภาดิจิทัลฯ ได้แสดงถึงบทบาทการเป็นตัวแทนภาคเอกชนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยในการร่วมสร้างความสำเร็จในการช่วยเหลือและผลักดันนโยบายแนวคิดหลักในการระดมทุนของ กตล. ดังกล่าวไปยังกลุ่มผู้ประกอบการให้เห็นถึงความสำคัญของการระดมทุน ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นว่ากลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ตั้งแต่การสร้างรายได้ สร้างงาน นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนใน ยุค 4.0 อีกทั้งการทำให้สตาร์ทอัพไทยประสบความเสร็จได้ จำเป็นต้องมีการสร้าง Ecosystem ให้ที่ดีให้เกิดขึ้น อันประกอบด้วย นักลงทุน บุคลากร หน่วยงานสนับสนุน (เช่น Incubators/Accelerators), หน่วยงานวิจัย (เช่น มหาวิทยาลัย) บริษัทขนาดใหญ่ และภาครัฐ (นโยบาย และกฎระเบียบ) ดังจะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบ (Impact) ในการสร้าง Ecosystem คือ นโยบาย และกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้คือหน้าที่สำคัญของสภาดิจิทัลฯ ที่ร่วมสร้าง Ecosystem ให้เข้มแข็ง และอาศัยการทำงานสอดประสานกับภาครัฐ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Regional Hub ในอนาคต
ดร.อธิป กล่าวในตอนท้ายรายการว่า สภาดิจิทัลฯ กำลังเร่งดำเนินการจัดทำ Guideline รูปแบบสัญญา อันจะช่วยลดต้นทุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการ ไม่จำเป็นต้องไปว่าจ้างนักกฎหมายในการจัดทำเอกสารประกอบต่างๆ เหล่านี้อีกทั้งสภาดิจิทัลฯ จะร่วมดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และเผยแพร่เอกสารเหล่านี้ร่วมกับทาง กลต ในอนาคต อันจะช่วยสร้างโอกาสในการลงทุนนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อให้ธุรกิจผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย ให้สามารถเติบโตเพื่อการแข่งขันได้ในระดับโลกต่อไป