กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การ NEDO โชว์บิ๊กโปรเจกต์ครั้งสำคัญของประเทศ ดัน “โครงการรีไซเคิลชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ” (End of Life Vehicle : ELV Project) เน้นการบริหารจัดการซากรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งนำอุตสาหกรรมไทยสู่ BCG โมเดลอย่างมีศักยภาพ ตอบโจทย์เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG" หรือ Bio-Circular-Green Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน -เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นแนวทางหลักในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับแนวทางดังกล่าว โดยสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ที่มีการตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี พ.ศ.2573 ไว้ที่ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ เพื่อเป้าหมายลดมลพิษสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ สิ่งสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่กันไป คือ การคำนึงถึงการบริหารจัดการรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานอย่างครบวงจร เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการนำวัสดุชิ้นส่วนต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) ดำเนินโครงการรีไซเคิลชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ (End of Life Vehicle) หรือ ELV โปรเจกต์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ ไปสู่ BCG โมเดลอย่างมีศักยภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดการซากรถยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติจำนวนรถจำแนกตามอายุรถทั่วประเทศ กรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 5,688,384 คัน ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการซากรถยนต์อย่างถูกวิธี กระทรวงฯ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ NEDO จึงได้ร่วมกันผลักดันโครงการฯดังกล่าว โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศในการบริหารจัดการซากรถยนต์อย่างเป็นรูปธรรม
และได้รับความร่วมมือจากบริษัท Toyota Tsusho Corporation ประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกัน การสาธิตการนำเครื่องตัดซากรถยนต์มาใช้ที่โรงงาน กรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) ซึ่งถือเป็นการจัดการซากรถยนต์อย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินงานเริ่มตั้งแต่การรวบรวมรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน การรื้อชิ้นส่วนยานพาหนะ ตลอดจนการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนซากอย่างมีประสิทธิภาพก็จะผลักดันให้เกิดการรีไซเคิลและหมุนเวียนทรัพยากรให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก ยาง พลาสติก และโลหะมีค่าที่สกัดได้จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบันโรงงาน กรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบ ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 จังหวัดชลบุรี ได้ตั้งเป้ากำจัดซากชิ้นส่วนรถยนต์ให้ได้สูงสุด 20 คันต่อวัน หรือประมาณมากกว่า 25 ตันต่อวันในน้ำหนักของชิ้นส่วน เพื่อใช้เครื่องจักรในการรื้อถอนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถดึงเอาทรัพยากรที่มีค่าออกมาได้อย่างเต็มที่
“ELV โปรเจกต์ ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทยในยุค New Normal ที่ชูแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย