22 เม.ย. 2564 491 0

ผลสำรวจชี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อมุมมองด้านความยั่งยืนของผู้บริโภค 9 ใน 10 ราย

ผลสำรวจชี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อมุมมองด้านความยั่งยืนของผู้บริโภค 9 ใน 10 ราย

ผลการศึกษาผู้บริโภคกว่า 14,000 คนในเก้าประเทศ โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ยกระดับการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนในกลุ่มผู้บริโภค โดยผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเอง หรือแม้แต่ยอมได้เงินเดือนน้อยลง เพื่อแลกกับอนาคตที่ยั่งยืน

ผู้บริโภคเก้าใน 10 คนที่สำรวจยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนมุมมองในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมของตน แม้จะในระดับที่ต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก โดยชาวอเมริกันที่สำรวจแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืนน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น มีชาวอเมริกันที่สำรวจเพียง 51% ที่มองว่าการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นเรื่องสำคัญมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศอื่นถึง 73% มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

“ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคทั่วโลกมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติสภาพอากาศของโลกมากขึ้น และเห็นได้ว่าธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ตอบโจทย์ความคาดหวังของทั้งลูกค้าและนักลงทุน รวมถึงได้มีการปรับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรของตนแล้ว” ดร.เมอร์เรย์ ซิมป์สัน ผู้นำระดับโลกของไอบีเอ็มในด้านความยั่งยืน สภาพอากาศ และความเปลี่ยนแปลง กล่าว “จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรได้เริ่มเดินหน้าอย่างจริงจังในการสร้างระบบซัพพลายเชนที่มีความโปร่งใส หรือปรับปรุงการบริหารจัดการพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีการนำเทคโนโลยีอย่างเอไอหรือบล็อกเชนเข้ามาช่วย”

ผลสำรวจชี้ว่าปัจจัยด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากพร้อมที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจับจ่ายซื้อของ การเดินทาง การเลือกบริษัทที่จะทำงานด้วย แม้ว่าจะต้องยอมเข้าเนื้อบ้างก็ตาม

พนักงานบริษัทจำนวนมากยอมได้เงินเดือนลดลงเพื่อเลือกที่จะทำงานกับนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าพนักงานบริษัทและกลุ่มคนที่กำลังหางานถึง 71% อยากทำงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากกว่า ขณะที่สองในสามของกลุ่มคนวัยทำงาน (พนักงานบริษัท คนที่กำลังหางาน และนักศึกษาฝึกงาน) มีแนวโน้มที่จะเลือกทำงานกับองค์กรที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเกือบครึ่งยอมได้เงินเดือนน้อยลงเพื่อแลกกับการทำงานในองค์กรเหล่านี้ หนึ่งในสี่ของพนักงานบริษัทที่สำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังวางแผนที่จะเปลี่ยนงานในปีนี้ ส่งผลให้หลายบริษัทอาจเสี่ยงที่จะสูญเสียท็อปทาเลนท์ไปให้คู่แข่งที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากกว่า

ขณะที่ 48% ของผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่าตนเชื่อถือบริษัทที่แสดงคำมั่นเรื่องการสนับสนุนความยั่งยืน โดย 64% คิดว่าจะจับตาในเรื่องนี้มากขึ้นในปีหน้า

ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนส่วนบุคคล

48% ของนักลงทุนรายย่อยที่สำรวจยังเผยว่าตนได้เริ่มจัดการพอร์ทโฟลิโอการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ขณะที่ 21% เผยว่าจะเริ่มทำในอนาคต

นักลงทุนรายย่อยที่สำรวจ 59% ยังคาดว่าภายในปีหน้าจะเริ่มซื้อขายหลักทรัพย์โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

นักช็อปและนักเดินทางจำนวนมากพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบด้านการเงินต่อคนจำนวนมาก แต่ 54% ของผู้บริโภคที่สำรวจยังพร้อมที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นให้กับแบรนด์ที่แสดงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

นอกจากนี้ 55% ของผู้บริโภคที่สำรวจยังระบุว่าประเด็นด้านความยั่งยืนคือปัจจัยที่สำคัญมากถึงมากที่สุดสำหรับพวกเขาในการตัดสินใจเลือกแบรนด์ ซึ่งสูงกว่าผลสำรวจที่ไอบีเอ็มเคยทำก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึง 22% โดยราวหกใน 10 ของผู้บริโภคที่สำรวจพร้อมที่จะปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าเพื่อให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้บริโภคในอินเดีย (78%) และจีน (70%) ที่พร้อมทำเรื่องดังกล่าวมากที่สุด

ในแง่ของการเดินทาง หนึ่งในสามของกลุ่มที่สำรวจยอมรับว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวของตนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดย 82% ระบุว่าพร้อมจะเลือกวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแม้ว่าจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบแบบสำรวจชาวอเมริกันเพียง 64% ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับ 95% ในอินเดียและ 91% ในจีน