ในปีที่ผ่านมา บ๊อชประกาศตั้งเป้าจะเป็นองค์กรอุตสาหกรรมระดับโลกแห่งแรก ที่ดำเนินงานโดยมีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในสิ้นปี 2563 ครอบคลุมสำนักงาน 400 แห่งทั่วโลก และในปัจจุบัน บ๊อชได้ทำเป้าหมายที่ท้าทายนั้นสำเร็จลุล่วงแล้ว โดยสามารถทำคะแนนด้านปฏิบัติการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ดีจนติดกลุ่ม A ขององค์กรเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน (CDP) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ช่วยติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ “ก้าวต่อไปของบ๊อชคือ จะพยายามลดการปล่อยก๊าซในทุกขั้นของห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดซื้อไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้าย” ดร.โฟล์คมาร์ เดนเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าวและเสริมว่า “ด้วยความมุ่งมั่นเช่นนั้น บ๊อชจึงเดินหน้าเข้าร่วมองค์กร Science Based Targets initiative (SBTi) ที่ช่วยสร้างเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซตามฐานวิทยาศาสตร์ นับเป็นซัพพลายเออร์อุตสาหกรรมรถยนต์แห่งแรกที่เข้าร่วม และมีเป้าหมายที่แน่วแน่ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในกระบวนการต้นน้ำและปลายน้ำให้ได้ร้อยละ 15 ภายในปีพ.ศ. 2573”
บ๊อช ประเทศไทย มีบทบาทสนับสนุนกลยุทธ์ให้สัมฤทธิผล โดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 1 เมกะวัตต์ (MW) ที่โรงงานระบบอัจฉริยะของบ๊อชในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ภายใต้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง เมื่อเดือนมกราคม 2563 โรงงานอัจฉริยะแห่งนี้ ทำหน้าที่ผลิตอุปกรณ์การเชื่อมต่อและหัวฉีดรองรับส่วนงาน Mobility Solutions รวมทั้งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของบ๊อช ตอบสนองความต้องการของตลาดยานยนต์โลกได้
มร.โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าวว่า “การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นที่โรงงานในระยอง เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในประเทศไทย รวมทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมด้วย” ทั้งนี้ บ๊อชได้ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ครอบคลุมพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร คาดว่าจะผลิตพลังงานสะอาดได้มากกว่า 23,500 เมกะวัตต์ชั่วโมง และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 15,000 ตันตลอดช่วงการใช้งาน 20 ปี หรือเท่ากับ 760 ตันต่อปี ซึ่งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่โรงงานนี้ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเริ่มใช้งานในเดือนมกราคม 2564”
นอกจากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ บ๊อชยังมีระบบที่ทำให้กระบวนการเผาไหม้บริสุทธิ์มากขึ้น เพื่อลดปริมาณฝุ่นอนุภาคเล็กให้น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณร้อยละ 70 และเดินหน้ามุ่งทำภารกิจด้านพลังงานหมุนเวียนให้สำเร็จ เนื่องจากรถยนต์ระบบเดิมก็ควรช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกัน ซึ่งเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ จะช่วยให้กระบวนการสันดาปมีความเป็นกลางทางคาร์บอน
การดำเนินการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น บ๊อชได้ปฏิบัติการใน 4 แนวทาง ได้แก่ การลงทุนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพพลังงาน (energy efficiency) โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น มีการจัดซื้อพลังงานสะอาดมากขึ้น พร้อมชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ทั้งนี้ สัดส่วนการชดเชยคาร์บอนในปี 2563 จะต่ำกว่าที่วางแผนไว้มาก โดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 25 แทนที่จะเป็นเกือบร้อยละ 50 เพราะบ๊อชได้ดำเนินการคืบหน้าไปเร็วกว่าที่คาด ในด้านการพัฒนาคุณภาพตามมาตรการต่าง ๆ ซึ่งภายใน พ.ศ. 2573 บริษัทจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานจากโรงผลิตพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “โครงการนี้ในประเทศไทย จึงมีบทบาทสนับสนุนให้เป้าหมายด้านพลังงานสะอาดของเรา สำเร็จลุล่วง” มร.ฮง กล่าว
ด้านปฏิบัติการเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ (climate action) บ๊อชได้นำแนวทาง 2 ด้านมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่อง (multiplier effect) ไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม เป้าหมายด้านหนึ่งคือ การทำให้กิจกรรมทั้งด้านต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่มูลค่า มีความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศที่สุดเท่าที่จะทำได้ นับจาก “สินค้าที่ซื้อ” ไปจนถึง “การใช้สินค้าที่ขายไป” ซึ่งภายในปี 2573 บริษัทคาดว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง (ขอบเขต 3) จะลดลงร้อยละ 15 หรือมากกว่า 50 ล้านเมตริกตันต่อปี ดังนั้น บ๊อชจึงขานรับการตั้งเป้าหมายตามแนวทางของ SBTi และกลายเป็นผู้ผลิตและจัดหาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งแรกที่ให้คำมั่นว่าจะทำภารกิจตามเป้าหมายที่วัดได้ให้สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น บ๊อชยังมีแผนนำเอาองค์ความรู้จากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,000 คนทั่วโลก และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานกว่า 1,000 โครงการ มาเสริมทัพกิจการใหม่ด้านการให้บริการที่ปรึกษา คือ Bosch Climate Solutions “เราอยากนำประสบการณ์ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับบริษัทอื่น ๆ ด้วย และช่วยให้องค์กรต่าง ๆ พัฒนาความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ดียิ่งขึ้นไปอีก” มร.ฮง กล่าวเสริม