1 พ.ค. 2564 854 2

เพราะพนักงานคือหัวใจสำคัญ ดีแทค มองภาพสิทธิแรงงาน ในยุคโควิด-19

เพราะพนักงานคือหัวใจสำคัญ ดีแทค มองภาพสิทธิแรงงาน ในยุคโควิด-19

ในวันแรงงานสากล วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หรือวันเมย์เดย์ ดีแทคเราขอร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันนี้ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรที่ดูแลพนักงานหลายพันคน บนหลักการสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน บทความนี้ถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นความก้าวหน้าและความพยายามในการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่พนักงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง  เพื่อในท้ายที่สุด ดีแทคจะมีพนักงานที่มีความสุข ได้รับการส่งเสริมโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ไปพร้อมๆ กับการมีสวัสดิภาพในการทำงาน เพื่อพร้อมทำงานด้วยความทุ่มเท มุ่งไปสู่เป้าหมายการเติบโตของดีแทคอย่างมั่นคง และยั่งยืน

อ่านเรื่องราวต่อได้ที่ dtacblog.co

เพราะพนักงานคือหัวใจสำคัญ มองภาพ ‘สิทธิแรงงาน’ ในยุคโควิด-19



การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนในสังคมต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

ในโมงยามแห่งวิกฤต ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริการการสื่อสาร คือบุคลากรและเจ้าหน้าที่จากหลากหลายแผนกที่ร่วมกันสร้างสรรค์ (create together) นวัตกรรมและให้บริการอย่างเต็มที่ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ดีแทคขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองความสำคัญของบุคลากรทุกคน ที่เดินหน้าเชื่อมต่อสังคมไทยกับทุกสิ่งที่สำคัญอย่างไม่มีสะดุดแม้ในยามวิกฤต

แนวหน้ากับความเสี่ยงยุคโควิด-19

ประทีป ยิ่งยงค์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงข่ายภาคสนามเล่าว่า เนื้องานของเขาคือการติดตั้งดูแลโครงข่ายตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ห้องทำงานของเขาคือพื้นที่ภาคสนาม ซึ่งเขารับผิดชอบพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ด้วยการทำงานภาคสนาม ทำให้ประทีปต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่บ้าง โดยเฉพาะการดูแลโครงข่ายที่อยู่นอกเมืองซึ่งอาจตั้งอยู่บริเวณท้องนาหรือป่ารกชัฏ ทำให้อาจต้องเผชิญกับอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลาน แต่ดีแทคก็มีการกำหนดหลักปฏิบัติซึ่งสอดคล้องกับสิทธิแรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น พนักงานต้องสวมใส่รองเท้านิรภัยในระหว่างปฏิบัติงาน และไม่ออกปฏิบัติงานหลัง 6 โมงเย็นเว้นเสียแต่เป็นเหตุฉุกเฉินเท่านั้น

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประทีปและทีมงานจำเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในพื้นที่สีแดง ทำให้การปฏิบัติงานต้องมีความรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทมีการออกนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกเรื่องอุปกรณ์อย่างหน้ากากอนามัย ถุงมือ เจลแอลกอฮอล์ และชุด PPE ตลอดจนการตรวจโรคหากเผชิญกับความเสี่ยง

“แน่นอนการเข้าทำงานในพื้นที่เสี่ยง เราต้องมีความกังวลอยู่แล้ว แต่ด้วยมาตรการและการสนับสนุนต่างๆ จากบริษัท ทำให้คนหน้างานอย่างผมทำงานได้อย่างสบายใจ ที่สำคัญ มันเป็นคุณค่าทางใจที่ได้ช่วยเหลือให้บุคลากรทางการแพทย์มีบริการทางการสื่อสารไว้ทำงาน และติดต่อกับคนที่เขารักได้ในยามวิกฤตเช่นนี้” ประทีปเล่า

ในฐานะพนักงานบริการลูกค้าประจำ dtac hall สาขาจามจุรี วราภรณ์ เฮงหวาน ต้องเผชิญหน้ากับผู้คนหลากหลายในแต่ละวัน ซึ่งเธอยอมรับว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พนักงานด่านหน้าหรือ frontline worker นั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยแนวปฏิบัติและการสนับสนุนของบริษัท ทำให้เธอและเพื่อนๆ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสบายใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ถุงมือ และฉากกั้น รวมทั้งประกันโควิด-19 ที่เพิ่มเติมเข้ามา

“แม้หน้าที่ของเราจะไม่สามารถปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ แต่มาตรการและนโยบายต่างๆ ของบริษัท ก็ทำให้เรามั่นใจในการทำงานมากขึ้น สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มร้อย ไม่มีความกังวล” วราภรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ส่วนงานบริการลูกค้านั้นมีการบังคับใช้นโยบายแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ทีม เพื่อลดความหนาแน่นในสถานที่ทำงาน โดยสลับกันให้บริการลูกค้าระหว่างช่องทางหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ คือ Line@ และเพจเฟซบุ๊กประจำสาขา

สิทธิแรงงาน: รากฐานขององค์กรที่แข็งแกร่ง



นาฎฤดี อาจหาญวงศ์
หรือ ‘พี่กุ้ง’ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคลของดีแทค เน้นย้ำว่าการที่องค์กรจะสามารถเดินหน้าได้ หัวใจสำคัญคือบุคลากร “ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามีนโยบายหลากหลายในการดูแลพนักงาน โดยสะท้อนผ่านโครงการและสวัสดิการต่างๆ นับตั้งแต่สิทธิวันลาพื้นฐาน ประกันสุขภาพ ไปจนถึงสวัสดิการพิเศษอย่างการให้สิทธิลาคลอดกับพนักงานหญิง 6 เดือน เรามองว่าสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ถือเป็นหลักประกันและรากฐานที่สำคัญของหลักสิทธิแรงงาน อันจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่งขององค์กร แม้ในยามวิกฤติโควิด-19” พี่กุ้งอธิบาย

ภายใต้สถานการณ์ปกติ ดีแทคได้มีการประกาศใช้วิถีการทำงานแบบยืดหยุ่น (flexible work) อย่างถาวรมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 โดยมีจำนวนพนักงานที่เข้ามาทำงานที่ดีแทคเฮาส์เฉลี่ยเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดพบว่าพนักงานกว่า 90 เปอร์เซ็นต์รู้สึกพอใจและยังคงต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ทั้งจากที่บ้านและที่สำนักงานต่อไป

“สิทธิแรงงานในยุคหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องด้วยคุณค่าของการทำงานที่เปลี่ยนไป ความยืดหยุ่นและการทำงานจากที่ใดก็ได้กำลังกลายเป็นความปกติใหม่ ซึ่งถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับงานบริหารทรัพยากรบุคคล ผู้นำจึงต้องให้อำนาจและอิสระพนักงานมากขึ้นในการตัดสินใจ เพื่อให้ทุกคนสามารถทำตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้อย่างยืดหยุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ชัดเจนในเรื่องเป้าหมายและการวัดผล ซึ่งที่ดีแทคเราเรียกสไตล์การบริหารงานแบบนี้ว่า ‘tight-loose-tight’” พี่กุ้งกล่าว


ในส่วนของการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ดีแทคได้ดำเนินการตามหลักการจัดการภายใต้วิกฤตและการวางแผนความต่อเนื่องของธุรกิจ (business continuity planning) นับตั้งแต่การแบ่งพนักงานออกเป็นทีม A และทีม B โดยให้แต่ละทีมสลับเข้ามาทำงานในสัปดาห์ที่ตรงกับคิวของตนเอง ไปจนถึงการกำหนดจำนวนบุคลากรให้เข้ามาทำงานที่สำนักงานได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ในยามที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งได้จัดทำประกันโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษให้กับพนักงานทุกคนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพิ่มเติมจากแผนประกันสุขภาพซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วย

นอกจากมาตรการป้องกันในเชิงกายภาพแล้ว ดีแทคยังได้จัดทำคอร์สอบรมโดยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจพนักงานเกี่ยวกับเชื้อโควิด และการฝึกใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกวิธี โดยที่ผ่านมา ทางบริษัทมีการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่ออัปเดตสถานการณ์และเน้นย้ำให้พนักงานระมัดระวังตนเองอยู่เสมอ

ขณะเดียวกัน การรักษาสุขภาพใจของพนักงานให้แข็งแรงนั้นถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ดีแทคได้จัดให้มีบริการสายด่วนสุขภาพจิต โดยพนักงานสามารถโทรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและจิตแพทย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


“ดีแทคเป็นองค์กรที่ยึดถือหลักธรรมาภิบาลเคร่งครัด อันเป็นไปตามกฎหมายไทยและมาตรฐานสากล เราดำเนินธุรกิจอย่างมีความหมาย เพื่อให้การดูแลลูกค้าและพนักงานของเราอย่างดีที่สุด เราเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัท และท้ายที่สุดแล้วจะทำให้เราสามารถดูแลบุคลากรของเราได้เป็นอย่างดี แม้ในยามวิกฤต” พี่กุ้งทิ้งท้าย