13 พ.ค. 2564 2,003 2

AIS 5G - อิมแพ็ค เมืองทองธานี มอบพื้นที่และอำนวยความสะดวก โรงพยาบาลสนามบุษราคัม รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง จุดบริการฉีดวัคซีน พร้อมจัดเต็มสัญญาณเน็ต

AIS 5G - อิมแพ็ค เมืองทองธานี มอบพื้นที่และอำนวยความสะดวก โรงพยาบาลสนามบุษราคัม รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง จุดบริการฉีดวัคซีน พร้อมจัดเต็มสัญญาณเน็ต

โรงพยาบาลสนามถือเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของภาคสาธารณสุขไทยในการรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยังเป็นห่วง โดยมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมรายวันค่อนข้างสูง พร้อมมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในวงกว้างตลอดช่วงที่ผ่านมา การขยายพื้นที่เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วย ในลักษณะโรงพยาบาลสนาม และจุดฉีดวัคซีน จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ของภาคเอกชนซึ่งมีความพร้อมทุกด้านอย่างศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งร่วมกับ AIS 5G สนับสนุนการสู้ภัยโควิด-19 ของประเทศในครั้งนี้อย่างเต็มที่


โดยล่าสุดทางศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้เสนออาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่รองรับผู้ป่วยได้มากถึง 5,200 เตียง และในอนาคตอันใกล้ก็จะเป็นอีกหนึ่งจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล พร้อมผนึกกำลังร่วมกับ AIS ที่นำทีมวิศวกรพร้อมศักยภาพเทคโนโลยีสัญญาณเครือข่าย 5G ,4G และ Free Wi-Fi เข้าไปเพิ่มศักยภาพการสื่อสารให้กับบุคลากรทางการแพทย์กว่า 700 ชีวิตที่จะเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาอีกด้วย


วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS อธิบายว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ที่ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทางภาคสาธารณสุขเองก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า AIS เองก็ยังคงทำงานควบคู่ไปกับภาคสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันเราก็พร้อมทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วที่สุด”


สำหรับพื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานีนั้น ในช่วงเวลาปกติ เครือข่ายของ AIS มีความครอบคลุมสูงสุด รองรับการใช้งานสื่อสารของประชาชนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลสนามบุษราคัม” ที่มีเป้าหมายหลักในการรักษาผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง เกณฑ์ “สีเหลือง” เป็นหลักทำให้ต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้ง รถเอ็กซเรย์ เครื่องช่วยหายใจ และห้องตรวจปฏิบัติการ ทำให้เราต้องจัดเตรียมสรรพกำลังทั้ง 5G ,4G, Free Wifi และอุปกรณ์สนับสนุนอย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น เช่น รถสถานีฐานเคลื่อนที่อย่างเต็มที่ เพื่อเชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย, การส่งต่อข้อมูลการแพทย์อย่างเต็มประสิทธิภาพ


ทางด้าน พอลล์  กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อธิบายเพิ่มเติมว่า “เราได้เสนออาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร ให้ทางกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเป็นสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามบุษราคัม เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 กลุ่มสีเหลือง โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ ระยะเวลา 2 เดือน มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลสนามของจังหวัดนนทบุรี และเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยขนาดพื้นที่กว้างขวางคาดว่าจะรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 5,200 เตียง โดย จะแบ่งพื้นที่ชาเลนเจอร์อาคาร 1 อาคาร 2 อาคารละ 2,000 เตียง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ส่วนอาคาร 3 อีก 1,200 เตียง เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ โดยติดตั้งเต็นท์ความดันลบและเครื่องช่วยหายใจ”


“ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นอาคารที่มีพื้นที่ในร่มเป็นโถงขนาดใหญ่ โดยไม่มีเสากั้นกลาง ได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติเป็นที่รู้จักกันดี และในปี 2554 ซึ่งเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่อาคารแห่งนี้ได้ช่วยเหลือประชาชน เปิดพื้นที่ให้นำรถยนต์มาจอดหนีน้ำหลายหมื่นคัน เช่นเดียวกันในปีนี้การระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ยังมีความน่ากังวล เราจึงไม่ลังเลและยินดีอย่างมากในการมอบพื้นที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม พร้อมทำงานร่วมกับ AIS และภาคสาธารณสุข บริหารจัดการควบคุมโรค เพื่อประชาชนคนไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกันในเร็ววัน”

เกี่ยวกับโครงการ AIS 5G เชื่อมต่อช่วยเหลือเพื่อคนไทย

AIS ส่งต่อความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด ตั้งแต่เริ่มต้นการแพร่ระบาดในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1. สนับสนุนเครือข่ายสื่อสาร 5G, 4G,Free WIFI  หนุนการทำงานของภาคสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลสนาม ทั่วประเทศ ล่าสุดจำนวน 80 แห่ง 20,310 เตียง พร้อมจุดฉีดวัคซีนอีก 48 จุด ใน กทม.และต่างจังหวัด รวมถึง เสริมเครือข่ายในบริเวณโรงพยาบาลทั่วประเทศ 2. สนับสนุนบริการดิจิทัล อาทิ แอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ให้แก่กลุ่ม อสม.ช่วยในการทำรายงานและคัดกรอง, หุ่นยนต์คัดกรอง ROC-Robot For Care, เทคโนโลยี 5G AI CT Scan ปอด, เทเลเมดิซีน-ระบบโทรเวชกรรม , ระบบ CLOUD Contact Center สายด่วน, ระบบ NB IoT Tracking และแพลตฟอร์มวัคซีน 3. สนับสนุนอุปกรณ์สื่อสาร-ไอที พร้อมซิมและค่าบริการ แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริม สนับสนุนภารกิจต้านภัยโควิดของประเทศไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้อย่างดีที่สุด (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564)