“พลเอก ประวิตร” รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มอบนโยบายดำเนินการอย่างเร่งด่วนร่วมกับ ศปอส.ตร. ใช้กฎหมายลงดาบมือปล่อยเฟคนิวส์ โดยเฉพาะประเด็นวัคซีน และโควิด-19 ตัดวงจรกระบวนการผลิตข่าวปลอมป่วนสังคมและประเทศชาติ
วันนี้ (14 พ.ค.64) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) พร้อมทั้งมอบนโยบาย ณ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาคาร 20 ชั้น 8 บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ให้การต้อนรับ
พลเอก ประวิตร กล่าวว่า ในภาวะวิกฤติที่ประเทศไทยและทั่วโลก ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และยังเผชิญกับการเผยแพร่ข่าวปลอมที่รุนแรงมากขึ้น สร้างความตื่นตระหนกในสังคม และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ต้องร่วมกันดําเนินการอย่างเร่งด่วน ในการตรวจสอบข่าวสารอันเป็นเท็จ
โดยหากพบข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน ที่เข้าข่ายเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชน ให้ดําเนินการป้องกันและปราบปรามอย่างเคร่งครัด เร่งแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อ ข่าวปลอม พร้อมชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนสร้างการรับรู้ ให้รู้เท่าทัน
ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และศปอส.ตร. ซึ่งเป็นความร่วมมือ ระหว่างดีอีเอส กับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ มีความสําคัญอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กระทบกับความปลอดภัยในชีวิตด้านสุขภาพของประชาชน และขณะเดียวกัน ได้มีกระแสข่าวปลอม ที่ทําให้เข้าใจผิด ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาล ในสภาวะวิกฤตนี้
“ผมขอเน้นย้ำให้มีดําเนินการอย่างเร่งด่วน หากพบกรณีจงใจสร้างความสับสนแก่ประชาชน ให้ดําเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นวัคซีน และเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหลักในการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทัน เลือกรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล เพื่อช่วยลดปัญหาข่าวปลอม หรือทําอย่างไรให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อ ร่วมมือกันตัดวงจรกระบวนการผลิตข่าวปลอม ที่สร้างความสับสน ตื่นตระหนกแก่คนในสังคม” พลเอก ประวิตรกล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน และผลักการขับเคลื่อนภารกิจของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ให้มีการทํางานได้อย่างต่อเนื่อง และมีงบประมาณเพียงพอ ในการพัฒนาเครื่องมือให้พร้อม และทันสมัยต่อสภาวะการณ์ด้วย ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้วิธีการทํางานเชิงรุก เพื่อป้องกันและปราบปรามต่อไป
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการตรวจสอบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ระหว่างวันที่ 7 เม.ย.-11 พ.ค. 64 พบจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้อง 3,857,190 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 788 ข้อความ และมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 343 เรื่อง อยู่ใน 2 หมวดหมู่ข่าว คือ หมวดหมู่สุขภาพ 233 เรื่อง คิดเป็น 68% และหมวดหมู่นโยบายรัฐ 110 เรื่อง คิดเป็น 32%
ด้านภาพรวมสถานการณ์ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ซึ่งทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมรวบรวมจากการติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening) และการแจ้งเบาะตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 63 – 11 พ.ค.64 รวมระยะเวลา 475 วัน พบว่า มีจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้อง 73,833,192 ข้อความ โดยหลังจากคัดกรองพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 6,791 ข้อความ และมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 3,376 เรื่อง อันดับ 1 คือ หมวดหมู่สุขภาพ พบจำนวน 2,242 เรื่อง คิดเป็น 66% หมวดหมู่นโยบายรัฐ 1,011 เรื่อง คิดเป็น 30% หมวดหมู่เศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็น 4% ในส่วนของหมวดหมู่ภัยพิบัติไม่พบเรื่องที่เข้าข่าย
ขณะที่ สถานการณ์ข่าวปลอมนับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจนถึงปัจจุบัน (วันที่ 1 พ.ย. 62 - 11 พ.ค. 64) พบข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 116,419,184 ข้อความ โดยมีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 30,183 ข้อความ และหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 10,587 เรื่อง แบ่งเป็น หมวดสุขภาพ 54% นโยบายรัฐ 41% เศรษฐกิจ 3% และภัยพิบัติ 2%
อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และ ศปอส.ตร. ตั้งแต่ 1 พ.ย. 62 - 6 พ.ค. 64 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ส่งคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน ไปให้ ศปอส.ตร. ดำเนินการตรวจสอบ จำนวน 1,021 เรื่อง รวมคดีที่ดำเนินการ 23 ราย โดยมีการดำเนินคดีแล้ว 33 เรื่อง จำนวนผู้กระทำผิด 70 ราย แบ่งเป็น เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 เรื่อง ผู้กระทำผิด 18 ราย และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 19 เรื่อง ผู้กระทำผิด 52 ราย