เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ โดยคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (IPBES) ได้ออกรายงานโดยระบุว่า “ในอนาคต วิกฤตการณ์โรคระบาดมีแนวโน้มที่จะเกิดได้บ่อยขึ้น รุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคร่าชีวิตผู้คนได้มากกว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกเสียจากว่า ผู้คนบนโลกจะร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีในการดำรงชีวิตที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ”
อุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นอีกภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางมาตรการทางสาธารณสุข แต่ขณะเดียวกัน โทรคมนาคมก็เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสัดส่วนราว 4% ของทั้งโลก หรือคิดเป็นมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท (ข้อมูลโดย GSMA)
จากรายงานของสมาคม GSMA ในปี 2563 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่รวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเสาสัญญาณถึง 7% ต่อปี และจากการแนวโน้มการพัฒนาต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี 5G และพฤติกรรมการใช้งานดาต้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ตามการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการไลฟ์สตรีมมิ่ง
เปลี่ยนแบบติดสปีด
“การระบาดของโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคการสื่อสารเติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digitalization) ของประเทศในอัตราเร่ง การใช้งานดาต้าของลูกค้าดีแทคในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดรอบแรกนั้น เติบโตสูงขึ้นถึง 23% จนปัจจุบัน ยอดการใช้ดาต้าต่อเดือนพุ่งสูงขึ้นเฉลี่ย 20 GB ต่อคนเลยทีเดียว” ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ฉายภาพผลกระทบของโควิด-19 ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
ด้วย New Normal ด้านพฤติกรรม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดีแทคจึงได้เร่งขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในปี 2564 ที่ดีแทคให้ความสำคัญกับการขยายสัญญาณบนคลื่น 700 MHz เพื่อให้ครอบคลุมประชากรให้ได้ 90% และถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2548 ดีแทคมีการขยายโครงข่ายมากถึง 3 เท่า
อย่างไรก็ตาม ด้วยการขยายโครงข่ายในระดับนี้ นอกจากปัจจัยด้านการบริหารต้นทุนแล้ว ดีแทคยังตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมาด้วย โดยพบว่า การใช้พลังงานในการให้บริการโครงข่ายมีสัดส่วนสูงถึง 94% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบริษัท และเมื่อเทียบการใช้พลังงานไฟฟ้าพบว่าดีแทคใช้พลังงานเป็น 2 เท่าของประเทศมัลดีฟส์ทั้งประเทศ
“จากตัวเลขการใช้พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่พวกเราพบเจออยู่ทุกวัน ล้วนเป็นเครื่องเตือนใจให้ดีแทคต้องเปลี่ยนแปลงและลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งเราได้กำหนดเป้าหมายให้ดีแทคปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030” หัวเรือใหญ่ด้านเทคโนโลยีของดีแทคเน้นย้ำ
4 ขากลยุทธ์มุ่งสู่เป้าหมาย
ทั้งนี้ ดีแทคได้ประกาศแผนกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินงานใน 4 ด้าน ดังนี้
1. การมุ่งใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งดีแทคมีการดำเนินงานในส่วนนี้มาโดยตลอด อย่างบริเวณเสาสัญญาณที่จำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาการติดเครื่องปรับอากาศทำความเย็นทุกเสานั้นทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมาก แต่ปัจจุบัน ดีแทคได้เลือกใช้วิธีการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การลดขนาดห้องควบคุม และการติดพัดลมแทนที่ อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารชุมสาย ซึ่งช่วยลดอาคารปฏิบัติงานชุมสายจาก 6 แห่งเหลือเพียง 2 แห่งทั่วประเทศ โดยที่ประสิทธิภาพในการให้บริการยังคงเดิม ขณะเดียวกัน ดีแทคยังได้ใช้เทคโนโลยี Precision cooling และ Rack cooling ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจากความพยายามทั้งหมด ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานที่ศูนย์ชุมสายของดีแทคไปได้ถึง 32% เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ
2. การมุ่งสู่การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีความรับผิดชอบ ดีแทคตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไม่มีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการดำเนินการไปทำลายด้วยการฝังกลบหรือ Zero Landfill ในปี 2563 ดีแทคสามารถรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้กว่า 178,052 กิโลกรัม ทั้งนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านโทรคมนาคมในปี 2563 นั้นกว่า 90% มาจากโครงข่ายสัญญาณและการดำเนินธุรกิจ และอีกราว 10% เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับจากผู้ใช้งานทั่วไปและสำนักงาน (ซากมือถือ พาวเวอร์แบงค์ อุปกรณ์เสริม) ซึ่งดีแทคดำเนินการดังกล่าวภายใต้โครงการ ‘ทิ้งให้ดี’ ผ่านการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการคัดแยกและจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีศักยภาพและเทคโนโลยีในการกำจัดและรีไซเคิลขยะตามมาตรฐานสากลโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการนำโลหะมีค่าและวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลกลับสู่กิจกรรมการทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง
3. การมุ่งใช้พลังงานทางเลือกในระบบโครงข่าย ในปีนี้ ดีแทคได้ตั้งโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ที่ศูนย์ปฏิบัติการชุมสาย (data center) ทั้ง 2 แห่งและเสาสัญญาณในบางพื้นที่ เพื่อจ่ายไฟใช้งานร่วมกับระบบ grid เพื่อทดสอบความคุ้มทุนและศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงข่าย
4. การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Connectivity-based Enabler) ในภาคธุรกิจอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้นมีบทบาทในการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการใช้เทคโนโลยี machine-to-machine (M2M) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT)’ และการเพิ่มบริการโทรคมนาคมไร้สาย (mobile connectivity) อีกทั้งยังมีศักยภาพในการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้มหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงสุด ได้แก่ อาคารและที่อยู่อาศัย พลังงาน ขนส่ง เกษตรกรรม และภาคการผลิต โดยที่ผ่านมา ดีแทคได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการพัฒนารูปแบบทดสอบการใช้งาน อาทิ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ ในโรงงานต่างๆ และภาคธนาคารที่ช่วยสร้างเสถียรภาพทางพลังงานและวางแผนการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความท้าทายของพลังงานสะอาด
แม้โครงการต่างๆ ของดีแทค จะสะท้อนถึงความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้นั้น คือความสามารถในการเข้าถึงและใช้แหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศความร่วมมือผ่านภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) สมัยที่ 21 ภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 อีกทั้งได้มีการกำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ตามทิศทางพลังงานโลก โดยมีเป้าหมายสัดส่วนในการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2580 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อความสามารถในการบรรลุเป้าหมายของดีแทคอย่างมีนัยสำคัญ
“อย่างไรก็ดี ด้วยความต้องการในการใช้พลังงานของโทรคมนาคมที่มีรูปแบบเฉพาะ กล่าวคือ เสาสัญญาณจะตั้งกระจายเป็นใยแมงมุมย่อยทั่วประเทศ ต่างกับโรงงานที่มีพื้นที่หรือในนิคมที่มีโครงสร้างสาธารณูปโภคตั้งอยู่ในพื้นที่จุดเดียว ทำให้การเข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้นนวัตกรรมในการเข้าถึงพลังงานสะอาดจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนภารกิจการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตอันใกล้นี้” ประเทศทิ้งท้าย