กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยบริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) และบริษัท ซีพี บีแอนด์เอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ขับเคลื่อนโครงการ “ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2564” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 27 ชวนประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ หวังสร้างแรงบันดาลใจพร้อมปลูกจิตสำนึกเยาวชนคนรุ่นใหม่และคนไทยทั้งประเทศอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ให้คงอยู่คู่กันเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ
ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ยังคงเดินหน้าดูแลผืนป่าอนุรักษ์และสัตว์ป่า เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า โดยการควบคุมป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิมที่มีอยู่ และดูแลพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ โดยนำเทคโนโลยีระบบติดตามดาวเทียมมาใช้ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พร้อมกลยุทธ์การส่งเสริม กระตุ้น และปลูกจิตสำนึกให้คนไทย มีความรู้สึกหวงแหนและการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนดูแลแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ป่า รวมถึงดำเนินการลดปัญหาขยะในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
กรมอุทยานฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างการตระหนัก สร้างความรักและหวงแหนต่อทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย จึงได้ผสานความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกหน่วยงานช่วยกันรณรงค์ส่งเสริม กระตุ้นและปลูกจิตสำนึก ให้ประชาชนและเยาวชนให้รู้สึกหวงแหนและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า จึงได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ ขับเคลื่อนโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2564 ต่อเนื่องเป็น ปีที่ 27 โดยมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมปลูกจิตสำนึกรักธรรมชาติผ่านภาพถ่ายอันสวยงาม
ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งมั่นสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้และสัตว์ป่าและมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ริเริ่มโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 27 ปี เชื่อมั่นว่าการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้คนไทยสนใจในธรรมชาติและเห็นถึงคุณค่าของป่าไม้และสัตว์ป่า โดยในการประกวดปีนี้ ได้เพิ่มรางวัลสำหรับภาพถ่ายประเภทสัตว์ป่า ‘ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า’ และประเภทป่าไม้ ‘ภาพต้นไม้มีเรื่องเล่า’ ในระดับบุคคลทั่วไปและ เพิ่มหัวข้อพิเศษในการประกวด คือ ‘กล้วยไม้ไทยในธรรมชาติ’ ซึ่งต้องเป็นภาพถ่ายกล้วยไม้พันธุ์ไทยในธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้รู้จักพันธุ์กล้วยไม้ของไทยและถ่ายทอดความสวยงามท่ามกลางธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติ หรือระบบนิเวศนั้นๆ และร่วมอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไทยบางชนิดซึ่งลดน้อยลง จนใกล้จะสูญพันธุ์ และรักษาพิทักษ์ไว้เพื่อจะส่งมอบให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป
ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มธุรกิจโลตัสส์ เอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้น ประเทศจีน กล่าวว่า “โลตัส รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ปีนี้เป็นปีแรก หลังจากได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โลตัส ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมภายในธุรกิจของเราเอง และยังรวมไปถึงการร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับลูกค้าและประชาชนด้วย โลตัส ยินดีอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสได้นำภาพถ่ายที่งดงามจากผู้เข้าร่วมแข่งขัน มาตกแต่งภายในร้านกาแฟ Jungle Café ที่ตั้งอยู่ในสาขาของ Lotus’s go fresh ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘DRINK MORE FOR FOREST’ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างการตระหนักรู้และปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านภาพถ่ายสัตว์ป่าที่สวยงาม ให้ลูกค้าและประชาชนได้ร่วมกันปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าของเราส่งต่อให้กับรุ่นลูกหลานสืบไป”
วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นมีส่วนร่วม อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างสมดุลระบบนิเวศ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้ทุกชีวิตบนโลกอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในภาวการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้พวกเราทุกคนต้องหันมาใส่ใจ ช่วยกันฟื้นฟูและดูแลโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริษัทฯ จึงได้สานต่อการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งป่าบกและชายเลน รวมถึงร่วมสนับสนุนกิจกรรมโครงการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความเป็นเลิศ ทางธุรกิจและการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “กลุ่มทรู ได้นำศักยภาพผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร ดำเนินนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการประกวดภาพถ่ายฯ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ที่กลุ่มทรูได้เป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวดตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทุกภาคส่วน ที่ร่วม
สนับสนุนมาตลอด 27 ปี อีกทั้งกลุ่มทรู ยังได้ต่อยอดนำภาพถ่ายไปผลิตเป็นสปอตในวันสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ความรู้และที่มาของแต่ละวัน เพื่อเผยแพร่ในช่องรายการต่างๆ ของทรูวิชั่นส์ เฟซบุ๊กเพจ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ รายการช่าวช่อง TNN 16 และสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้นำภาพถ่ายไปจัดแสดงนิทรรศการตามหอศิลปะ แกลเลอรี่ และสถานที่จัดแสดง เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติอันงดงาม เกิดความตระหนักสร้างจิตสำนักรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป”
สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดภาพถ่าย คณะกรรมการจะพิจารณาจากการถ่ายทอดแนวคิดและสื่อความหมายของ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ความสวยงาม การจัดวางองค์ประกอบ ตามหลักทัศนศิลป์ ความยาก-ง่าย และเทคนิคการถ่ายภาพโดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสัตว์ป่า และประเภทป่าไม้ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. ระดับบุคคลทั่วไป
ภาพประเภทสัตว์ป่า แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย คือ
- ภาพนก เช่น นกชนิดต่างๆ เป็ด ไก่ป่า เหยี่ยว นกยาง เป็นต้น
- ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้าง เสือ กวาง ลิง เลียงผา เป็นต้น
- ภาพสัตว์อื่นๆ เช่น สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ แมลง เป็นต้น
- ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า เป็นภาพที่สื่อให้เห็นถึงการกระทำหรือการแสดงออกของสัตว์ป่าในด้านต่างๆ อาทิ การกิน อาหาร การเลือกคู่ การต่อสู้ หรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่แปลกน่าประทับใจ หรือน่าสนใจ
ภาพประเภทป่าไม้ แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
- ภาพ Landscape คือ ภาพธรรมชาติในมุมกว้าง แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์และความงดงาม ของธรรมชาติโดยรวม เช่น ภาพทิว เขาสายหมอก น้ำตก ทุ่งหญ้า ป่าพรุ ฯลฯ
- ภาพ Macro คือ ภาพธรรมชาติในมุมที่เฉพาะเจาะจง เพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงรายละเอียดความงดงาม เช่น เห็ด มอส เฟิร์น ดอกไม้ กล้วยไม้ ใบไม้ ฯลฯ
- ภาพต้นไม้มีเรื่องเล่า คือภาพถ่ายต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ หรือเคยถูกกล่าวถึงในวรรณคดี หรือเป็นต้นไม้ที่หายากและยังคงเป็นต้นไม้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น
โดยในปีนี้จะมีหัวข้อพิเศษ ‘กล้วยไม้ไทยในธรรมชาติ’ เป็นการประกวดภาพถ่ายกล้วยไม้พันธุ์ไทยในธรรมชาติ โดยไม่จำกัดว่าจะถ่ายเป็นแบบ Macro หรือจะถ่ายเป็นภาพมุมกว้าง แต่ต้องถ่ายภาพในสถานที่ธรรมชาติเท่านั้น ไม่อยู่โรงเรือนหรือในที่สถานที่เพาะเลี้ยง
2. ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
ภาพประเภทสัตว์ป่า (ไม่แบ่งประเภทย่อย)
ภาพประเภทป่าไม้ (ไม่แบ่งประเภทย่อย)
รางวัลยอดเยี่ยมระดับบุคคลทั่วไป ประเภท ‘สัตว์ป่า’ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประเภท ‘ป่าไม้’ จะได้รับถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล ทั้งระดับบุคลทั่วไปและระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา จะได้โล่รางวัลเงินรางวัลมูลค่า 650,000 บาท และสิทธิท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติอีกด้วย
ขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่สนใจสามารถส่งภาพถ่ายที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของสัตว์ป่าและความงดงามสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ พร้อมสื่อแนวคิดและความหมายของคำว่า ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ส่งภาพได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2564
โดยส่งภาพเข้าประกวดผ่านเว็บไซต์ https://www.trueplookpanya.com/event/photocontest/login สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ทรูปลูกปัญญา โทร. 080-989-6153 หรือ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร.0-2579-6666 ต่อ 1641-2