30 ก.ค. 2564 1,606 4

ดีอีเอส ลงนามสัญญามอบสิทธิ NT บริหารไทยคมหลังหมดสัมปทาน นับถอยหลังวันโอนกิจการไทยคม 4 และ 6 กลับคืนสู่รัฐ 11 ก.ย.นี้

ดีอีเอส ลงนามสัญญามอบสิทธิ NT บริหารไทยคมหลังหมดสัมปทาน นับถอยหลังวันโอนกิจการไทยคม 4 และ 6 กลับคืนสู่รัฐ 11 ก.ย.นี้

ดีอีเอส ลงนามสัญญา NT มอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศหลังไทยคมสิ้นสุดสัมปทาน นับถอยหลังวันโอนกิจการไทยคม 4 และ 6 กลับคืนสู่รัฐ 11 ก.ย.นี้ “ชัยวุฒิ” ย้ำเป็นก้าวสำคัญของไทยสู่ความมั่นคงด้านการสื่อสารผ่านดาวทียม และรักษาสิทธิวงโคจร

 

วันนี้ (30 ก.ค.64) ได้มีการลงนามในสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) โดย นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่  NT โดยมี อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ และ มรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน NT ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การลงนามในสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ที่เห็นชอบให้ NT เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ จนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 10 ก.ย. นี้

 

ทั้งนี้ การให้ NT ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินในโครงการนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งดาวเทียมสื่อสารถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้น การให้บริการดาวเทียมสื่อสารจึงเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการติดต่อสื่อสาร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการดาวเทียมของไทย

 

“การมอบสิทธิให้ NT เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ที่จะมีการโอนคืนมาให้กับรัฐ หลังการสิ้นสุดสัมปทานไทยคม จะสร้างความต่อเนื่องในการให้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย ทั้งดาวเทียมไทยคม 4 (119.5 องศาตะวันออก) และดาวเทียมไทยคม 6 (78.5 องศาตะวันออก) ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงไว้ได้” ชัยวุฒิกล่าว

 

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)  กล่าวว่า การที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดำเนินงานในครั้งนี้ ยังเป็นการต่อยอดทางธุรกิจให้กับ NT ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการที่ภาครัฐมีดาวเทียมสื่อสารเป็นของตัวเองจะก่อให้เกิดความมั่นคงในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ และทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่น  รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ NT เป็นผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมดาวเทียมของไทย เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมของไทย โดยผู้ใช้บริการและประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด

 

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินการตามสัญญานี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 64 โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องส่งมอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อให้ NT นำไปประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทดาวเทียมในลักษณะที่เป็นการให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียม ทั้งด้านโทรคมนาคมและด้านการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการประกอบกิจการหรือการให้บริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม (Transponder) เพื่อสนับสนุนงานของหน่วยงานรัฐ


 

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งมอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินโครงการนี้ รมว.ดีอีเอส จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการบริหารจัดการทรัพย์สินขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงฯ กับผู้แทนบริษัทฝ่ายละเท่าๆ กันเป็นกรรมการ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษาหรือร่วมเป็นกรรมการ ในการประสานงานเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตามความตกลงร่วมกันระหว่างคู่สัญญา ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้

การตรวจสอบข้อมูลร่วมกันในเรื่องค่าใช้จ่าย และค่าตอบแทนการใช้สิทธิบริหารจัดการทรัพย์สิน โดยค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี อิงอยู่บนพื้นฐานรายได้และกำไรของดาวเทียมทั้ง 2 ดวง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ดีอีเอส และ NT ปฏิบัติตามสัญญา กฎหมาย และข้อกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU (International Telecommunication Union) ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการดาวเทียม