9 ส.ค. 2564 3,617 13

ยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ สสว. และไมโครซอฟท์ หนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ให้ปรับองค์กรและธุรกิจสู่ดิจิทัล จัดงานสัมมนาด้านดิจิทัลแก่เอสเอ็มอี 1,000 ราย พร้อมให้ทดลองใช้ดิจิทัลโซลูชันฟรี!!

ยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ สสว. และไมโครซอฟท์ หนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ให้ปรับองค์กรและธุรกิจสู่ดิจิทัล จัดงานสัมมนาด้านดิจิทัลแก่เอสเอ็มอี 1,000 ราย พร้อมให้ทดลองใช้ดิจิทัลโซลูชันฟรี!!

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี (SMEs) ให้ปรับองค์กรและธุรกิจสู่ดิจิทัล จัดงานสัมมนาด้านดิจิทัลแก่เอสเอ็มอี 1,000 ราย พร้อมให้ทดลองใช้ดิจิทัลโซลูชันฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

จากผลการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวม 2,700 รายใน 21 ภาคธุรกิจโดยสสว. พบว่าเอสเอ็มอีสนใจนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน โดยร้อยละ 84.4 มีแผนที่จะเริ่มดำเนินการในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี พบว่าร้อยละ 61.4 ของเอสเอ็มอีไทยยังไม่มีช่องทางการขายออนไลน์  และอีกร้อยละ 64.1 ยังขาดระบบการรับสั่งสินค้าออนไลน์ ขณะที่ร้อยละ 20.7 ต้องการมีระบบการทำธุรกรรมออนไลน์



สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และ สสว. จะจัดงานสัมมนาออนไลน์แนะนำเทคโนโลยีและให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการที่สนใจในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Smart Business Transformation Programme (SBTP) ดำเนินการโดย เดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) และธนาคารยูโอบี ประเทศไทยที่ช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ปรับองค์กรและธุรกิจสู่ดิจิทัล โดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถระบุดิจิทัลโซลูชันที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง ที่จะช่วยปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงขยายฐานลูกค้า  ที่สำคัญผู้ประกอบการยังสามารถลงชื่อขอใช้ดิจิทัลโซลูชันฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลาสูงสุด 4 เดือน ประกอบด้วย Smart Point of Sale (POS) จากไมโครซอฟท์  Zaviago บริการแพลตฟอร์มสำหรับสร้างและจัดการเว็บไซต์ และ Kollective ซึ่งเป็นโซลูชันสำหรับการทำการตลาดโดยใช้ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (influencer)

 



สิรินันท์ จิรดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า “การปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นอย่างมากในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ โครงการ SBTP ของเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลได้ในเชิงรุก นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้ว ยังจะสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมาย สำหรับความร่วมมือกับสสว. และผู้ให้บริการดิจิทัลโซลูชันชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์  Zaviago และ Kollective จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยเปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบเดิมพลิกโฉมไปสู่การทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 


วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 34.2 ของ GDP ประเทศไทย ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เพื่อให้ SME สามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้และเพื่อการเติบโตต่อไปในอนาคต ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำธุรกิจมาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งยังต้องการใช้ดิจิทัลโซลูชันที่ตรงเป้าหมาย ใช้งานได้เห็นผลจริง และนำไปใช้งานได้ง่าย  ซึ่ง สสว.ได้กำหนดนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อขยายธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มสาขาธุรกิจภาคบริการรายย่อย เช่น ร้านค้า ร้านอาหารขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เราจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน มาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย”

 

ภักดี อัญญะกมล รองกรรมการผู้จัดการ ประสานงานกลุ่มลูกค้าองค์กรและกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จากการที่เราคลุกคลีกับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมานาน ทั้งยังได้เข้าไปช่วยเหลือองค์กรมากมายที่ต้องการก้าวข้ามความท้าทายในช่วงวิกฤตนี้ด้วยเทคโนโลยี เราขอขอบคุณทางยูโอบี ประเทศไทย และ สสว. ที่เปิดโอกาสให้ไมโครซอฟท์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือนี้ เราตระหนักดีว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญความท้าทายมากมาย เราจึงได้นำ โซลูชันต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ เช่น Microsoft Smart POS แอปพลิเคชันบันทึกการขายที่ทำงานในรูปแบบของบริการบนคลาวด์”

 

“Smart POS มีต้นทุนที่ถูกกว่าระบบบันทึกการขายแบบเดิมมาก ด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 150 บาทต่อเดือน และยังมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ของธุรกิจ ทั้งการสรุปยอดขายและส่งรายงานเป็น Excel แสดงยอดขายทุกรายการ ไปจนถึงการสร้างเว็บไซต์ และเครื่องมือการตลาดด้านการใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์  นี่เป็นเพียงหนึ่งในโซลูชันที่น่าสนใจจากไมโครซอฟท์และพันธมิตร  เราหวังว่าในอนาคต เทคโนโลยีของเราจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าและต่อยอดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง”

เอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ ครั้งนี้ สามารถสมัครผ่านลิ้งค์ https://bit.ly/2VmJYqj ได้ภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2564  และดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ SBTP ได้ที่ www.thefinlab.com/Thailand เพื่อเรียนรู้ข้อมูล เพื่อเปลี่ยนแปลงปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล



ข้อมูลโครงการ Smart Business Transformation หรือ SBTP

 โครงการ Smart Business Transformation หรือ SBTP ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทยให้สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

 

โครงการ SBTP ดำเนินการโดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และเดอะ ฟินแล็บ ผู้ร่วมขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีไปใช้โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารยูโอบีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจในการเดินทางสู่โลกดิจิทัล โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) องค์กรพันธมิตรภาคเอกชน รวมถึงผู้ให้บริการดิจิทัลโซลูชันต่างๆ

 

ในการเข้าร่วมโครงการ SMEs จะสามารถระบุปัญหาในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงได้คำแนะนำการใช้งานเครื่องมือต่างๆ ความรู้และแนวทางการทำงานในการปรับตัว และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้นวัตกรรมใหม่ หลังจากนั้น จะได้ทดลองใช้ดิจิทัลโซลูชันที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปทดลองแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 

สรุปการดำเนินงานและผลลัพธ์โครงการ SBTP

• ปี 2562 เปิดตัวโครงการเพื่อช่วยเหลือ SMEs ของไทยพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล พร้อมเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

o การดำเนินงาน: ผู้ประกอบการ 15 บริษัทเข้าร่วมโครงการ ด้วยวิธีบ่มเพาะความรู้แบบเชิงเข้มข้น เจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลากหลายสาขา รวมถึงให้ความช่วยเหลือแบบ high touch ในการแนะนำโซลูชันที่เหมาะสม จนถึงช่วยให้นำไป implement และใช้ได้จริง

o ผลลัพธ์: ผู้ประกอบการทั้ง 15 บริษัทได้นำเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชันต่างๆ ไปใช้งาน เพื่อปรับและขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัล ซึ่งได้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกที่สำคัญ โดยได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ลดต้นทุนต่างๆ สร้างทัศนคติและความคิดดิจิทัลให้เกิดขึ้นในองค์กร พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ

- แบรนด์ Nappi baby ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กผลิตจากใยไผ่ หลังปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล 1) มียอดขาย e-commerce เติบโตถึงร้อยละ 150 ในปีที่ 2563 และยังคงเติบโตได้อย่างดีในสถานการณ์ระบาดปีนี้ หลังพัฒนาใช้ e-commerce เต็มรูปแบบ 2) ลดต้นทุนด้านบุคลากร ค่าเช่าหน้าร้าน ปรับใช้ระบบ Fulfillment เพื่อบริหารคลังสินค้า ทำให้ต้นทุนธุรกิจโดยรวมลดลงถึงร้อยละ 50 สามารถต่อยอด 3) ขยายตลาดต่างประเทศ ล่าสุดมีตัวแทนจำหน่ายใหม่ในประเทศมาเลเซีย ตลอดจนเป็น Coaching ให้กับเอสเอ็มอีที่ต้องการเปลี่ยนสู่ธุรกิจออนไลน์ ว่าควรจะเริ่มต้นที่ตรงไหน โดยใช้ประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นระบบจากโครงการ SBTP ได้อย่างดี

- Kingdom Organic หรือเครือข่ายอาหารที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เป็นอีก SME ที่มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นำ 1) แนวทางการพัฒนาทั้งระบบการขาย การตลาด การบริหารจัดการด้วยระบบ ERP แม้ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อควบคุมประสิทธิภาพและต้นทุน 2) การจัดการด้วยระบบ Smart Faming และใช้ Big Data Management, AI, Machine Learning เพื่อการตอบกลับได้ของผลผลิตผ่านระบบ Block chain มีการปรับตัวเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

• ปี 2563 – 2564  ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โครงการจึงได้ปรับรูปแบบใหม่ให้เป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือ SMEs แบบไร้ขีดจำกัดทั่วประเทศ ให้เป็นแนวทางในการเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัลได้ตามที่ตนเองต้องการ

o การดำเนินงาน: ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 โครงการจึงได้มุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องการขายของออนไลน์ เนื่องจากความต้องการที่เร่งด่วนในเรื่องการนำดิจิทัลมาสนับสนุนธุรกิจให้สามารถไปต่อได้เช่นการนำe-commerce มาใช้ การทำ digital marketing จนถึงมุมมองในการจัดการธุรกิจเพื่อให้สามารถธุรกิจดำเนินได้ราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

o ผลลัพธ์:  ผู้ประกอบการสามารถปรับธุรกิจสู่ดิจิทัลได้ต่อเนื่อง สามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-19  ปรับใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ที่สอดคล้องกับการดำเนินการ พร้อมทั้งต่อยอดธุรกิจออกไปในตลาดต่างประเทศ ได้อีกด้วย อาทิ

- บริษัทดอลลี่ โซลูชัน ผู้พัฒนาระบบลานจอดรถและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์จราจร

แบรนด์ DPARK ที่ได้ใช้โซลูชันที่หลากหลายจากการเข้าร่วมอบรมด้านดิจิทัล เช่น การทำการตลาดผ่านอีเมลซึ่งช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดได้



สำหรับ SMEs ที่มีความต้องการและความพร้อมปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมหรือสมัครเข้าร่วมโครงการ SBTP ได้ทางเว็บไซต์ www.thefinlab.com/thailand