13 ส.ค. 2564 1,042 2

เปิดใจทีมดีแทค กับภารกิจช่วยชาติปูพรมวัคซีนสู้ภัยโควิด-19

เปิดใจทีมดีแทค กับภารกิจช่วยชาติปูพรมวัคซีนสู้ภัยโควิด-19

ประเทศไทยเข้าสู่จุดสูงสุดของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง โดยมียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่อวันทำนิวไฮอย่างต่อเนื่อง การเร่งปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นหัวใจสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดในระยะยาว

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อนั้นเป็นหนึ่งในศูนย์ฉีดวัคซีนที่มีความสำคัญของประเทศ ภายใต้การดูแลของกรมการแพทย์ โดยทางศูนย์ฯ นั้นเริ่มดำเนินการในรอบทดสอบเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแก่บุคคลทั่วไปในวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา และปัจจุบันสามารถให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 1 ล้านโดส


ในการนี้ ดีแทคได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการอื่นๆ คือ AIS, True และ NT ในการสนับสนุนภารกิจต่อสู้โควิด-19 ของประเทศไทย และได้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในขั้นตอนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนและการให้การต้อนรับลูกค้า ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ อันเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดโดยหน่วยงานสาธารณสุข

ทั้งนี้ ดีแทคได้เปิดลงทะเบียนรอบแรกสำหรับลูกค้า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ผ่านเว็บไซต์ www.dtac.co.th และแอปพลิเคชัน dtac app ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ด้วยแพลตฟอร์มที่มีความเสถียรและใช้งานง่ายในโอกาสนี้ dtacblog จึงไปพูดคุยกับสุรีรัตน์ สุวถาวรสกุล หญิงแกร่งอารมณ์ดี หนึ่งในแม่ทัพด่านหน้าของโปรเจกต์ดังกล่าว ถึงสถานการณ์หน้างาน ความท้าทาย และแรงใจจากภารกิจเพื่อชาติในครั้งนี้


ภารกิจสนับสนุนประเทศไทย

เดิมที ดีแทคได้รับการติดต่อจากกรมการแพทย์ให้ช่วยอำนวยสะดวกในการทำหน้าที่ทำระบบจองวัคซีน โดยเล็งเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศล้วนมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ การให้โอเปอเรเตอร์ทำหน้าที่เป็นจุดบริการในการลงทะเบียนจะช่วยให้การปูพรมฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น สุรีรัตน์เล่า

ผู้ให้บริการเครือข่ายยังทำหน้าที่สนับสนุนลูกค้าเมื่อเดินทางมาถึงสถานีกลางบางซื่อ ผ่านการคัดกรองและการประมวลผลการลงทะเบียน ซึ่งส่วนนี้ค่ายมือถือแต่ละค่ายจะทำหน้าที่หลักในการดำเนินการและอำนวยความสะดวก โดยผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนจะต้องโชว์คิวอาร์โค้ดที่ได้รับหลังจากลงทะเบียนล่วงหน้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ดีแทคจะแจกใบขออนุญาตในการรับบริการ และเข้าสู่ขั้นตอนการเช็คความดัน ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการฉีดวัคซีนและเฝ้าดูอาการในลำดับถัดไป

 

พันธกิจด้านมนุษยธรรม

ในช่วงแรกของการฉีดวัคซีนนั้น ทางฟากดีแทคนั้นมีจำนวนผู้เข้ารับบริการเฉลี่ย 300 คนต่อชั่วโมง แต่เมื่อสายพันธุ์เดลต้าเริ่มระบาดหนัก หน้าด่านต้องรับหน้าที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวหรือประมาณ 600 คนต่อชั่วโมง และในขณะนี้ที่อัตราการติดเชื้ออยู่ในระดับทะลุหลักหมื่นตลอดหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเป็น 1,200 คนต่อชั่วโมง นี่จึงเป็นความท้าทายของด่านหน้าในการรับมือกับผู้คนเรือนหมื่นในแต่ละวัน

 

สุรีรัตน์รับหน้าที่ในฐานะผู้นำทีมดีแทคในการปฏิบัติภารกิจด่านหน้า ในแต่ละวัน ทีมงานต้องดูแลประชาชนผู้เข้ารับบริการจากหลากหลายช่วงวัยและพื้นเพ ทำให้หัวใจของความสำเร็จในการปฏิบัติงานครั้งนี้คือความเห็นอกเห็นใจ และการมุ่งดูแลให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่น

 

เราต้องดูแลผู้ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกคนเป็นอย่างดี รู้จักอะลุ่มอล่วย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษากฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด” สุรีรัตน์อธิบาย

 

ทีมงานด่านหน้าของดีแทคนั้นปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อมาแล้วเป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ซึ่งทีมของสุรีรัตน์นั้นจะผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลการบริหารจัดการงานด่านหน้าให้ราบรื่นมากที่สุด เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นระยะ สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้นตลอดเวลา และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยต่างๆ อย่างเคร่งครัด

 

เรามีความภูมิใจอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเพื่อชาติในครั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้บริหารต่างให้กำลังใจ ถามไถ่การสนับสนุนตลอด ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยนะ แต่สนุก ดีใจที่ผู้บริหารมอบหมายงานนี้ให้ทำ รู้สึกว่าได้ทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่” เธอกล่าว

 

การเข้าถึงข้อมูลและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ด้วยความที่สุรีรัตน์นั้นร่วมงานใกล้ชิดกับพนักงานด่านหน้าและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เธอจึงคอยแบ่งปันข่าวสารของทางราชการเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ ทำให้มีเพื่อนๆ แวะเวียนมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนการฉีดวัคซีนอยู่เป็นระยะ

 

มีหลายคน ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก ส่งข้อความมาถามไถ่ บางครั้งข้อมูลด้านวัคซีนอยู่อย่างกระจัดกระจาย เราจึงเริ่มแชร์ข้อมูลต่างๆ จากทางภาครัฐ เชื่อไหมว่า เพราะข้อมูลของเรา ทำให้คนที่เขารักหลายคน ทั้งคุณย่าคุณยาย คุณพ่อคุณแม่ได้รับวัคซีน จริงๆ เราเพียงแค่อยากช่วย แต่ผลลัพธ์นั้นเกินความคาดหมายไปมาก ทำให้เราเห็นว่าการอยู่ภายใต้สภาวะแห่งความหวาดกลัวและตื่นตระหนก สิ่งที่จะช่วยเยียวยาจิตใจได้นั้น คือความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์” สุรีรัตน์ทิ้งท้าย