การเติบโตของบริการคลาวด์และโคโลเคชันรวมถึงการเกิดขึ้นของไฮเปอร์สเกลเลอร์ต่างมีส่วนทำให้การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งคิดเป็น 60% ของอุปทานดาต้า เซ็นเตอร์ทั้งภูมิภาค ดาต้า เซ็นเตอร์ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เกือบเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ผู้ประกอบการจึงควรดำเนินการเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปฏิบัติงาน เพราะการยิ่งใช้พลังงานที่มากเท่าใด เราก็จะยิ่งเห็นสิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่สูงขึ้นเท่านั้น
เทรนด์ดาต้า เซ็นเตอร์รักษ์โลก
ความเป็นจริงที่ว่าการใช้พลังงานของดาต้า เซ็นเตอร์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อย ๆ มีส่วนทำให้หลายองค์กรเกิดความสนใจในการพัฒนาดาต้า เซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ปฏิบัติงานในสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นพัฒนาความสามารถในการประหยัดพลังงานของดาต้า เซ็นเตอร์รุ่นเก่า โดยได้ปฏิบัติตามแผนงานสีเขียว (Green Plan) และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศตน อีกทั้งยังมุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) จากการปฏิบัติงานอีกด้วย นอกจากนี้บริษัท Singtel ก็เพิ่งติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 1.65 MWp ที่ชั้นดาดฟ้าบน Bedok Data Center และ Keppel Corp. ก็ประกาศแผนการสำรวจการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ในทะเลเพื่อประหยัดพลังงานและขจัดข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรยังคงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการลดการใช้พลังงานค่าใช้จ่าย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานของตน
การใช้แนวทางที่มีความยั่งยืนมากขึ้นในวงการธุรกิจดิจิทัลยังคงเป็นหลักการใหม่และเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากทุกคนได้เริ่มเห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลเมืองและผู้รณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างๆ มีการกระทำที่รอบคอบมากขึ้น จากรายงานทัศนคติต่อสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ผลสำรวจปี 2563 ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในอาเซียน 93.6% เชื่อว่า การยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติของห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติงานที่ยั่งยืน รวมถึงการลงทุนและการสนับสนุนเงินทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจะช่วยให้ธุรกิจและองค์กรมีส่วนร่วมในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
แม้การใช้พลังงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีจะเติบโตขึ้น แต่ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ต่างถูกผลักดันให้ค้นหาโซลูชันรุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานเพราะเกิดแรงกดดันให้จัดการกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการรวมแหล่งพลังงานหมุนเวียนเข้ากับดาต้า เซ็นเตอร์จึงเป็นหนทางเดียวที่ช่วยจัดการกับปัญหา มากกว่านั้นโซลูชันด้านเทคโนโลยีก็ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาผลผลิตจากพลังงานเมื่อความต้องการเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
มุ่งให้ดาต้า เซ็นเตอร์ประหยัดพลังงานมากขึ้น
การจัดการระบายความร้อนถือเป็นส่วนสำคัญในความต้องการใช้พลังงานของดาต้า เซ็นเตอร์ทั้งหมด ดังนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยีและกระบวนการทำความเย็นที่ประหยัดพลังงานรูปแบบใหม่ไปใช้ในดาต้า เซ็นเตอร์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น การระบายความร้อนด้วยของเหลวสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานลดการใช้พลังงานลงได้มาก และถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการทำให้ CPU เย็นลง เนื่องจากน้ำมีประสิทธิภาพด้านการถ่ายเทความร้อนมากกว่าอากาศ ด้วยเหตุนี้การลดอุณหภูมิของน้ำลงทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสจะช่วยประหยัดพลังงานได้ 2-3% ในเครื่องทำความเย็นทั่วไป แม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ดาต้า เซ็นเตอร์ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (carbon neutral) ได้ แต่ก็ยังต้องมีการปรับแต่งเพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Omdia คาดการณ์ว่าโซลูชันการระบายความร้อนด้วยของเหลวจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 2563 และ 2567
5G สร้างผลกระทบต่อดาต้า เซ็นเตอร์
เมื่อมีการเปิดตัวเครือข่าย 5G จะเกิดผลกระทบเป็นทอด ๆ ต่อโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงดาต้า เซ็นเตอร์ ด้วยเครือข่าย5G มีประสิทธิภาพมากกว่ารุ่นก่อนในแง่ของแบนด์วิดท์และความหนาแน่นในโครงข่ายการเชื่อมต่อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก 5G นี้สามารถเปลี่ยนแปลงเกมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี Internet-of-Things (IoT) โครงสร้างพื้นฐาน IoT ที่มีประสิทธิภาพสูงรวมถึงแอปพลิเคชันที่ใช้ข้อมูลจำนวนมากสามารถใช้ประโยชน์จากความจุแบนด์วิดท์ของ 5G ด้วยความเร็วในการเชื่อมต่อที่มากกว่า 1 Gbps และค่าความหน่วงที่ต่ำถึง 1 มิลลิวินาที เราจึงสามารถประยุกต์ใช้เครือข่าย 5G กับการปฏิบัติงานอันล้ำสมัยได้ เช่น ดิจิทัลทวินในการผลิตและยานยนต์อัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการใช้ประโยชน์จาก 5G ให้ได้มากที่สุด ผู้ให้บริการจำเป็นต้องทบทวนการออกแบบดาต้า เซ็นเตอร์อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น 5G ใช้ความยาวคลื่นสั้นและความถี่สูงซึ่งต้องใช้เซลล์ขนาดเล็กและเสาอากาศอินพุตและเอาต์พุตหลายตัว (MIMO) นอกจากนี้เพื่อทำให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจว่า การให้บริการอันสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาระบบ 5G จะมีค่า Latency ต่ำและมีความน่าเชื่อถือ ดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดเล็กจึงจำเป็นต้องปรับให้ใกล้ชิดกับผู้ใช้ปลายทางมากขึ้น ดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดเล็กเป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจร คุ้มค่า ยืดหยุ่นและกะทัดรัด ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจได้ มีเวลาการปรับใช้งานที่สั้นลง อีกทั้งยังมีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในดาต้า เซ็นเตอร์แบบเดิม เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบระบายความร้อน เครือข่าย และการตรวจสอบ ในขณะที่การใช้งาน 5G ดีดตัวสูงขึ้น ความต้องการโซลูชันดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดพลังงานจะยังคงเติบโตต่อไป
การเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในดาต้า เซ็นเตอร์ต่างกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และความยั่งยืนก็กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึง ผู้ปฏิบัติการดาต้า เซ็นเตอร์ซึ่งเป็นผู้นำในการใช้กระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นมีศักยภาพในการดึงดูดลูกค้ารายใหม่ที่กำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทซึ่งมีแนวคิดด้านความยั่งยืนคล้ายคลึงกัน ดังนั้นการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโซลูชันที่มุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนเช่นเดียวกันนี้จะช่วยให้คุณบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดการปล่อย GHG จากการปฏิบัติงานและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้พร้อมกันด้วย เขียนโดย Tony Gaunt, VP, Colocation & Cloud, Asia & India