สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ 40 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เดินหน้าจัดกิจกรรม Startup Thailand League 2021 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนิสิต/นักศึกษาทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนทรัพยากรที่จะส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ในอนาคต ซึ่งจะประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การอบรม Coaching Camp ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง (Mentor) เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ และ 2) กิจกรรม Pitching Startup Thailand League เป็นการประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษา ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทย (Thailand Startup Ecosystem) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งหนึ่งในแผนการส่งเสริมสตาร์ทอัพของประเทศ คือการเพิ่มบทบาทสถาบันการศึกษาในการสร้างความตระหนักและบ่มเพาะสตาร์ทอัพ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ นิสิต/นักศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งสร้างสรรค์ความคิดและนวัตกรรม โดยพยายามผลักดันให้สถาบันการศึกษาที่มี
ศักยภาพเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial Universities) และได้ร่วมกับ 40 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ดำเนินโครงการ “Startup Thailand League” ขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการสร้างระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่จะจุดประกายและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ รวมทั้งก่อให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จะส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจจากความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ พร้อมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต”
Startup Thailand League เป็นโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งสร้างเมล็ดพันธุ์เถ้าแก่น้อย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในภาคธุรกิจ หรือเป็นพนักงานที่มีคุณภาพของบริษัทเอกชน ซึ่งตลอด 5 ปีของการดำเนินกิจกรรมมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 70,000 คน จาก 40 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน โดยได้รับเงินสนับสนุนในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมทั้งสิ้นกว่า 1,350 ทีม ทั้งนี้ สามารถต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทและปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่มากกว่า 40 บริษัท ก่อให้เกิดรายได้รวมต่อปีมากกว่า 400 ล้านบาท (เฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อปีต่อบริษัท) นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของสตาร์ทอัพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดการกระจายรายได้ออกสู่ภูมิภาค รวมถึงเกิดการจ้างงานและสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนได้มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่แล้ว กิจกรมนี้ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้น เช่น การเกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ใน 40 มหาวิทยาลัยก การสร้างเครือข่าย Startup Thailand League (Facebook Group) ซึ่งเป็นพื้นที่รวมตัวสร้างเครือข่ายพลังสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ทั่วประเทศ สำหรับการแชร์ไอเดียแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ หาพาร์ทเนอร์ แลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 2,240 คน พื้นที่ Co-Working Space ในมหาวิทยาลัย กองทุนสนับสนุนนักศึกษาในบางมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเกิดการลงทุนจากบริษัททั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัย เช่น หลักสูตรการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนานักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีส่วนสร้างกระแสความตื่นตัวในธุรกิจ "สตาร์ทอัพ" ที่เป็นความสนใจของกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเสริมถึงการจัดกิจกรรมในปีนี้ว่า “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้หลายกิจกรรมต้องปรับรูปแบบเป็นออนไลน์ ซึ่งพบว่า นิสิต/นักศึกษาส่งแนวคิดและแผนธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่ม Health Tech มากขึ้นกว่าทุกปี และมาเป็นอันดับต้นๆ สะท้อนให้เห็นว่านิสิต/นักศึกษาสามารถใช้วิกฤติเพื่อสร้างโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานในการเริ่มต้นธุรกิจได้
ทั้งนี้ NIA จะจัดกิจกรรมแสดงผลงาน/ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก “IDEA สู่ Prototype” ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 200 ผลงาน เพื่อสร้างโอกาสสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและแสดงผลงานต่อกลุ่มนักลงทุน ภาคเอกชน และผู้สนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมทั้งจะมีการแข่งขันระดับประเทศครั้งสุดท้ายในช่วงปลายปีนี้ เพื่อค้นหาสุดยอด Startup Thailand League ประจำปี 2021 โดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จะได้สนับสนุน Cloud Voucher แก่นิสิต/นักศึกษาที่ชนะเลิศระดับประเทศ รวมเป็นรางวัลกว่า 36,000 USD หรือประมาณ 1,200,000 บาท
ดร.พันธุ์อาจ ย้ำว่า “เวทีการแข่งขัน Startup Thailand League ระดับมหาวิทยาลัย ไม่เพียงเป็นพื้นที่จุดประกายและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพให้ก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ ตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น แต่ยังสอดรับกับนิสิต/นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่และอาจว่างงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ โดยจะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้อีกทางเลือกหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ นอกเหนือจากการเข้าทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ในอนาคต NIA จะต่อยอดกิจกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มเติมกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้/ความสามารถผ่านกิจกรรมอบรมบ่มเพาะ การส่งเสริมให้สามารถจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ เพื่อสร้างทรายเม็ดใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นให้มากที่สุด และจะมุ่งเน้นให้นิสิต/นักศึกษาทำธุรกิจในนวัตกรรมเชิงลึก (Deep Tech) มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งใน 5 เทคโนโลยี ได้แก่ MED TECH, AG TECH, FOOD TECH, SPACE TECH และ ARI TECH