8 ก.ย. 2564 1,038 3

ดีป้า เร่งส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพทุเรียนไทยสู่เวทีโลก

ดีป้า เร่งส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพทุเรียนไทยสู่เวทีโลก

ดีป้า เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนทุเรียนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลวางแผนการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP พร้อมเชื่อมโยงตลาดกับแหล่งผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียนไทย สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค พร้อมสยายปีกสู่ตลาดโลกอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน


ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ดีป้า ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐานจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการดูแลผลผลิต เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค รวมถึงการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสู่ระบบออนไลน์ วางรากฐานภาคเกษตรกรรมไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อีกทั้งรองรับการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในอนาคต

โดยปัจจุบัน ทุเรียนนับเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งไทยคือผู้ส่งออกทุเรียนสดอันดับ 1 ของโลก โดยการส่งออกทุเรียนสดของไทยในช่วงที่ผ่านมาของปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นยอดส่งออกที่สูงที่สุดครั้งใหม่จากที่เคยทำไว้ในปีที่ผ่านมาจนทุเรียนกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจตัวใหม่รองจากยางพารา และแซงหน้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และหากนับเฉพาะการส่งออกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทุเรียนสดของไทยสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนมีอัตราการเติบโตสูงถึง 130.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ดีป้า เล็งเห็นความสำคัญของพืชเศรษฐกิจอย่าง ทุเรียน จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนกว่า 300 คนประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน Kasettrack ที่ได้รับการพัฒนาโดย บริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย หนึ่งในผู้บริการดิจิทัล (Digital Provider) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า ซึ่งดีป้าได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าถึงบริการผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนคูปองดิจิทัล (mini Transformation Voucher) โดยที่เกษตรกรได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมได้เองและดีป้าจะช่วยสนับสนุนเป็นค่าเช่าหรือซื้อบริการดิจิทัล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในทางหนึ่ง ซึ่ง Kasettrack ถือเป็นบริการดิจิทัลในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ช่วยเกษตรกรในการวางแผนการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP เชื่อมโยงตลาดกับแหล่งผลิต โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ผลิตพืชผักผลไม้ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม จันทบุรี สกลนคร สระบุรี ฯลฯ ใช้งาน Kasettrack แล้วกว่า 1,700 คน 

เจียวหลิง พาน กรรมการผู้จัดการบริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ปจำกัด (Thailand) ผู้ส่งออกทุเรียนไทยไปจีน รองนายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ ฝ่ายต่างประเทศ และกรรมการสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักชื่อเสียงของทุเรียนไทย และให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยหมอนทองยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด และตามมาด้วยพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ผู้บริโภครุ่นใหม่จะนิยมทุเรียนเกรดพรีเมียม และสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดย Kasettrack นอกจากจะช่วยเชื่อมโยงผู้ซื้อกับเกษตรกรที่ผลิตทุเรียนคุณภาพเข้าหากันแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้แหล่งที่ปลูก เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพและคุณค่าของทุเรียนไทยอีกด้วย


ด้าน บรรเลง ศรีสวัสดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลรับร่อ ประธานกลุ่มทุเรียนคุณภาพเนิน 491 จังหวัดชุมพร ได้เล่าประสบการณ์ใช้งาน Kasettrack ว่า เกษตรกรทุกช่วงวัยสามารถนำแอปพลิเคชันดังกล่าวไปใช้ได้จริง ซึ่งช่วยเกษตรกรในการรวมกลุ่ม วางแผนค่าใช้จ่าย บริหารจัดการสวนทุเรียน จดบันทึกข้อมูลเพื่อตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ทำให้การผลิตทุเรียนได้คุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้


ดร. เมธินี ศรีวัฒนกุล เลขานุการเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัย (GAP Net) กล่าวว่า ทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีนได้ ต้องเป็นไปตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยทุเรียนต้องมาจากแปลงที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งสมาคมและองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ รวมถึงห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ตลอดจนเชื่อมโยงกับองค์กรภาครัฐ พร้อมเห็นถึงประโยชน์ของ Kasettrack ที่สามารถช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่ ทำให้เกษตรกรจดบันทึกได้อย่างเป็นระบบ มีการบันทึกภาพถ่ายแหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก วิธีจัดการแปลง คาดการณ์ผลผลิต  ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพภายในกลุ่ม และสนับสนุนการตรวจประเมินแบบเสมือนจริงแทนการเดินทางไปตรวจ ณ แปลงเกษตรกร ทำให้สามารถประเมิน ให้คำปรึกษาวิชาการในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และออกใบรับรองมาตรฐาน GAP แก่เกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อตรวจประเมิน  อีกทั้งช่วยป้องกันการนำเลขทะเบียน GAP ของเกษตรกรคุณภาพไปใช้ และลดการสวมสิทธิ์ใบรับรองมาตรฐาน GAP