14 ก.ย. 2564 625 0

ทรู จับมือ ไอบีเอ็ม ดึงเทคโนโลยีอนาไลติกส์สุดล้ำ ยกระดับบริการลูกค้าและธุรกิจทั่วประเทศ

ทรู จับมือ ไอบีเอ็ม ดึงเทคโนโลยีอนาไลติกส์สุดล้ำ ยกระดับบริการลูกค้าและธุรกิจทั่วประเทศ

ไอบีเอ็ม ประกาศความร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจรในกลุ่มทรู เลือกใช้เทคโนโลยีดาต้าแวร์เฮาส์และอนาไลติกส์แบบใหม่ที่มีความก้าวล้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งประเภทบุคคลและองค์กรทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหลายล้านคนและธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ตั้งแต่การทำงานจากบ้าน การเรียนออนไลน์ ไปจนถึงการปรับโมเดลธุรกิจให้เป็นออนไลน์พร้อมบริการจัดส่งถึงบ้าน  ทรูตระหนักถึงความต้องการด้านการสื่อสารของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่ยากลำบากและไม่แน่นอนนี้ และได้ตัดสินใจใช้ IBM Netezza Performance Server for IBM Cloud Pak for Data ซึ่งจะช่วยร่นเวลาในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล

"เครื่องมือเอไอและอนาไลติกส์ที่ทรงพลัง ที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถถอดรหัสข้อมูลมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ในองค์กร บนคลาวด์ หรือบนระบบไฮบริดคลาวด์ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง คือสิ่งที่ทุกองค์กรต่างมองหาในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้"  ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าว  "ด้วยระบบ all-in-one ที่สร้างขึ้นบน Red Hat OpenShift Container Platform ทำให้ IBM Netezza Performance Server เป็นโซลูชันที่สมบูรณ์แบบ ตอบโจทย์การใช้งานของทรูในแง่การสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า และสนับสนุนความต้องการที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ในทันทีที่ลูกค้าต้องการ"


"ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทรูมุ่งมั่นเชื่อมโยงการสื่อสารดิจิทัลเพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนภาคธุรกิจจากออฟไลน์สู่อีคอมเมิร์ซ การสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาให้สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ และมอบประสบการณ์ดิจิทัลแบบไร้รอยต่อสำหรับทุกคนในบ้าน ซึ่งการเข้าใจความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ และการนำเสนอสินค้าและบริการได้อย่างเฉพาะเจาะจง ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที เป็นสิ่งที่ทรูมุ่งเน้นและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง" ดร.ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าว

"การเร่งความเร็วในการสืบค้นข้อมูลให้เหลือหลักวินาทีแทนการใช้เวลาหลายชั่วโมง ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจได้แบบเรียลไทม์ แม้แต่การสืบค้นซึ่งก่อนหน้านี้มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลานาน ยังสามารถทำได้ในช่วงเสี้ยวของเวลาเดิม สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจและเพิ่มศักยภาพในการดูแลลูกค้าของเราได้เป็นอย่างดี" ดร.ธีรเดช กล่าวเสริม

ขีดความสามารถที่สูงขึ้น ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของทรูสามารถสร้างและรันโมเดลเอไอตั้งแต่ 100 ถึง 1,000 โมเดล อีกทั้งสามารถทดสอบ รวมถึงรันโมเดลหลายๆ เวอร์ชันซ้ำบนชุดข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อหารูปแบบและความสัมพันธ์ใหม่ๆ ของข้อมูล ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกที่แม่นยำมากขึ้นสำหรับธุรกิจ นอกจากนี้ การลดข้อมูลแบบไซโล รวมถึงการปรับและลดกระบวนการบริหารจัดการ ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทรูสามารถสร้างความคุ้มค่าและลงทุนได้เหมาะสมกับโอกาสการเติบโตของธุรกิจ

ความสามารถในการสืบค้นข้อมูลจำนวนมหาศาลจากหลายระบบพร้อมๆ กัน ไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ที่ไหน ช่วยให้ทรูสามารถสร้างรายงานข้อมูลต่างๆ ได้เร็วขึ้น 5 เท่า และลดเวลาในการวิเคราะห์ประมวลผลจากหลายวัน เหลือไม่กี่ชั่วโมง อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถนำเสนอแพ็กเกจบริการแบบเฉพาะเจาะจงและคุ้มค่าสูงสุดสำหรับลูกค้าด้วย