สุดเจ๋ง! แอปไอบู้ทส์ ครองแชมป์ผลงานนวัตกรรมแอปพลิเคชันหุ่นยนต์เพื่อธุรกิจค้าปลีก ทรู 5G เผยโฉม 3 ทีมนักศึกษา คว้ารางวัลโครงการ True5G Temi Robot Bootcamp รับเงินรางวัลรวม 350,000 บาท พร้อมต่อยอดใช้งานได้จริง
ทรู 5G ประกาศผลรอบชิงชนะเลิศจากโครงการ True5G Temi Robot Bootcamp ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ True5G Temi Connect & Carebot ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G พัฒนานวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยร่วมกับศูนย์การค้าต่างๆ อาทิ เครือเซ็นทรัล ซีคอนสแควร์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และเสริมไทยคอมเพล็กซ์ นำอัจฉริยภาพเทคโนโลยี 5G สร้างระบบนิเวศดิจิทัลของการศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับสู่ Smart Education Smart University อย่างยั่งยืน โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศถึง 11 ทีม จาก 11 มหาวิทยาลัย ร่วมเฟ้นหาอย่างเข้มข้นจนได้สุดยอดทีมที่มีผลงานโดดเด่น สามารถพัฒนาต่อยอดใช้งานได้จริง จำนวน 3 ทีม รับเงินสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและประกาศนียบัตร ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ รับเงินสนับสนุน 200,000 บาท ได้แก่ อีซีทีม (ECTEAM) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานแอปพลิเคชันไอบู้ทส์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินสนับสนุน 100,000 บาท ได้แก่ ทีมวินเซ้นท์บอยส์ (Vincent BOiS) จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผลงานระบบมาสคอท(Maskot) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินสนับสนุน 50,000 บาท ได้แก่ ทีมอินทรอเรสท์ (Introrest) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผลงานระบบแนะนำสินค้าหรือร้านค้าภายในศูนย์การค้า
รางวัลชนะเลิศ – อีซีทีม (ECTeam) ผลงานแอปพลิเคชันไอบู้ทส์ แอปพลิเคชันสำหรับร้านรองเท้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ลูกค้าสามารถช้อปปิ้งรองเท้าผ่านหุ่นยนต์อัจฉริยะ True5G Temi Connect & Carebot ด้วยฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การเลือกแบบรองเท้า เลือกโปรโมชั่น การสั่งจองและติดตามสถานะ หรือสั่งซื้อรองเท้า โดย ภาสกร แย้มงาม หัวหน้าทีม กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดและแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ รวมถึงได้ลงมือปฏิบัติจริง ด้วยการทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่การรับโจทย์ จากการหาข้อมูลและประชุมงานร่วมกัน ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ พัฒนาความสามารถและศักยภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาคนอื่นๆ ได้อีกด้วย”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - ทีมวินเซ้นท์ บอยส์ (Vincent BOiS) ผลงานระบบมาสคอท (Maskot) ระบบการสังเกตการณ์การใส่หน้ากากอนามัยของผู้ใช้บริการในห้างสรรพสินค้า สามารถส่งเสียงเตือนผู้ใช้บริการที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ระบบยังจดจำใบหน้าแบบแยกเพศได้ทั้งชายและหญิง พร้อมบอกได้ว่าเคยเดินผ่านจุดนี้ไปแล้วกี่ครั้ง โดยนายกฤษฏิ์ กรสุธาทิพย์กุล หัวหน้าทีม กล่าวว่า “โครงการนี้มีประโยชน์สำหรับนักศึกษาเป็นอย่างมาก ขอขอบคุณอาจารย์และทรู 5G ที่จัดโครงการขึ้นมาทำให้ได้ฝึกฝน พัฒนาการเขียนโปรแกรมและการเอาไปใช้ได้จริงและมีประโยชน์กับสาธารณชน”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - ทีมอินทรอเรสท์ (Introrest) ผลงานระบบแนะนำสินค้าหรือร้านค้าภายในศูนย์การค้า เป็นระบบที่แนะนำร้านต่างๆในห้างสรรพสินค้า ทั้งร้านอาหาร ร้านเสริมสวย เป็นต้น ทั้งยังสามารถนำทางไปยังร้านค้าที่ต้องการ โดย นายประพันธ์พงษ์ เพียนจันทร์ หัวหน้าทีม กล่าวว่า “โครงการนี้ทำให้ได้รับประสบการณ์จริงในการเขียนโค้ดต่างๆ รวมถึงการทดลองนำไปใช้งานจริง สามารถนำการเขียนแอปพลิเคชันนี้ไป ต่อยอดกับการเรียนในระดับต่อไป และต่อยอดกับการทำงานในอนาคตได้ด้วย”
นิสิตนักศึกษาหรือผู้สนใจสามารถติดตามโครงการดีๆจาก ทรู 5G ได้ที่ https://5g.truemoveh.com/