20 ก.ย. 2564 1,219 2

โควิดฉุดไม่อยู่ อุตสาหกรรมอวกาศโตแรงต่อเนื่องทั่วโลก บีโอไอ หนุน มิว สเปซ นำทีมดึงดูดการลงทุน

โควิดฉุดไม่อยู่ อุตสาหกรรมอวกาศโตแรงต่อเนื่องทั่วโลก บีโอไอ หนุน มิว สเปซ นำทีมดึงดูดการลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประกาศแผนที่จะสนับสนุน มิว สเปซ บริษัทเอกชน ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศชั้นนำของไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาประกาศถึงการเตรียมการวางแผนสนับสนุนและปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลงทุนสำหรับปี 2565 เพื่อชักจูงให้เกิดการลงทุนในธุรกิจดาวเทียมของประเทศไทยโดยจะให้สิทธิประโยชน์เท่ากับอุตสาหกรรม new s-curve โดยปัจจุบัน บีโอไอกำลังหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอวกาศของไทยเพื่อกำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะประกาศแผนการสนับสนุนการลงทุนภายในปลายปีนี้

 

จากข้อมูลของบีโอไอ จำนวนดาวเทียมต่อปีที่อยู่ในระยะสูงกว่าพื้นโลก 500 กิโลเมตรกำลังเพิ่มขึ้นพร้อมกับความต้องการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแม้จะมีการระบาดทั่วโลกของสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา บีโอไอเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเติบโตของธุรกิจผลิตดาวเทียมภายในประเทศ และเนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บีโอไอจึงตั้งเป้าที่จะปรับสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในการผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตดาวเทียม พร้อมทั้งวางแผนที่จะร่วมมือกับบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนการบินและอวกาศของประเทศ

 

ทั้งนี้ บีโอไอตั้งเป้าไว้ว่าจะดึงดูดนักลงทุนจากประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น และอิสราเอล เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียม รวมถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมที่สูงขึ้น ที่มีมูลค่ามากขึ้นเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเรา เรามองเห็นว่าอุตสาหกรรมอวกาศต่อไปข้างหน้าจะมีความต้องการมากขึ้น ทำให้คนของเรามีโอกาสได้พัฒนาทักษะและเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถสร้างรายได้ และทำให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง”

 

“บริษัทเอกชนของไทย เช่น มิว สเปซที่มีศักยภาพในการผลิตดาวเทียมเองได้แล้ว เป็นตัวจุดประกายที่จะสามารถสร้างซัพพลายเชนของดาวเทียมในประเทศไทยในระยะ 10 ปี มิว สเปซ เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ด้านนี้ และสามารถดึงคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้เข้ามาพัฒนาผลิตภันฑ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศต่างๆ ได้”

 

มิว สเปซได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในชั้น A1 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสิทธิประโยชน์ที่มิว สเปซได้รับนั้นรวมถึง การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดวงเงิน ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร อากรขอนำเข้าเพื่อวิจัย และอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตดาวเทียมและชิ้นส่วนดาวเทียมภายในประเทศ รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

 

ทั้งนี้ มิว สเปซ ได้เปิดตัวโรงงานผลิตดาวเทียมแห่งที่สองซึ่งเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ ในปัจจุบัน โรงงานแห่งใหม่นี้มีพื้นที่มากกว่า 2,200 ตารางเมตร โดยยังเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนา ทดสอบ และผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมและผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศ ด้วยการใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผลิตดาวเทียมแบบไฮเบย์ การบูรณาการระบบพลังงานและห้องปฏิบัติการสำหรับพัฒนาแบตเตอรี่เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงพื้นที่ทดสอบการทำงานของระบบเทคโนโลยีต่างๆ ภายในโรงงาน

 

โรงงานแห่งใหม่ของมิว สเปซเป็นก้าวสำคัญของวงการอวกาศของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจะช่วยขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดดาวเทียมระดับโลก พร้อมกับที่ภูมิภาคนี้ได้เร่งการเติบโตและการมีส่วนรวมในการแข่งขันทางด้านอวกาศในระดับสากล

 

มิว สเปซ ได้เร่งแผนการเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการจ้างงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงกว่า 300 ตำแหน่งภายในปี 2565 โดยคาดว่าจะเพิ่มอีก 150 ตำแหน่งภายในปีนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ของประเทศที่มีความหลากหลายและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เนื่องจากบริษัทฯ มองว่าเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเพื่อการสร้างเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการสำรวจอวกาศ ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้นี่เองจึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าของมิว สเปซจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มีแผนจะเริ่มเปิดระดมทุนรอบใหม่ในเร็วๆ นี้อีกด้วย

 

วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ กล่าวถึงความร่วมมือในอนาคตกับบีโอไอ ว่า “ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีและดาวเทียม เรารู้สึกขอบคุณที่ BOI มองเห็นศักยภาพของเราและยินดีสนับสนุนเราให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย เราสัญญาว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตดาวเทียมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ ทีมวิศวกรของเรากำลังทำงานอย่างไม่ลดละเพื่อพัฒนาดาวเทียมดวงแรกของ มิว สเปซ ซึ่งจะเปิดตัวทดสอบในต้นปีหน้า ประเทศไทยและเอเชียได้รับความไว้วางใจให้เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์และปิโตรเคมีของโลกมาอย่างยาวนาน ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศ”

 

ในช่วงปีที่ผ่านมา มิว สเปซ สามารถดึงดูดนักลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจรายใหญ่มากมาย ให้เข้ามาลงทุนในบริษัทฯ ที่กำลังเติบโต เช่น บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ - อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย  กองทุนมาจูเวน (Majuven) และกลุ่มนักธุรกิจเอกชนต่างๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ เช่น ผู้บริหารจากมูลนิธิมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) รวมทั้งนักลงทุนรายอื่นๆ อีกมากมาย

 

แม้ว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างมากในช่วงเวลานี้ อุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่สูงขึ้น โดยมีการปล่อยดาวเทียมมากกว่าร้อยดวงสู่อวกาศ นอกจากนี้ ภายในเดือนเมษายน ปี 2564 มีการระบุว่าดาวเทียม 7,389 ตัวกำลังลอยและปฏิบัติการในอวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ การสนับสนุนทางทหาร การนำทาง การถ่ายภาพโลก การเฝ้าติดตามสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม และการสื่อสาร เป็นต้น โดยจำนวนดาวเทียมในปีนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 27.97 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยในปัจจุบัน ดาวเทียมทั้งหมดที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นอวกาศมีจำนวนสูงถึง 11,139 ดวง

 

การสำรวจอวกาศคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2583 โดยมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมดาวเทียมขนาดเล็กคาดว่าจะเติบโตถึง 220 เปอร์เซ็นต์ ที่ 54.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573   เนื่องจากรายได้จากอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอวกาศโลกจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอวกาศในเอเชีย ทั้งนี้ บีโอไอเชื่อว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ทางบีโอไอคาดว่ายอดขอรับสิทธิพิเศษในการลงทุนในประเทศไทยจะสูงถึง 7 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมดาวเทียมจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตที่เพิ่มขึ้นนี้

 

สามารถรับชมวิดีโอเกี่ยวกับโรงงาน Factory 1 ของมิว สเปซ รวมทั้งกระบวนการผลิตและชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ได้ที่วิดีโอ Inside mu Space’s Factory 1