12 ต.ค. 2564 1,177 17

มิว สเปซ เปิดตัวดาวเทียมใหม่ mu-B200 พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3 ชูศักยภาพผลิตดาวเทียมถึง 100 ตัว เพื่อขับเคลื่อนการแข่งขันในระดับโลก

มิว สเปซ เปิดตัวดาวเทียมใหม่ mu-B200 พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3 ชูศักยภาพผลิตดาวเทียมถึง 100 ตัว เพื่อขับเคลื่อนการแข่งขันในระดับโลก

มิว สเปซ ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวเทคโนโลยีดาวเทียมใหม่ล่าสุด “mu-B200” พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3 ใช้ชื่อว่า Factory 2 ผ่านไลฟ์สด ในงาน Virtual Live Satellite Tech Unveil 2021 โดยโรงงาน Factory 2 จะมุ่งเน้นการทำงานในรูปแบบ Vertical-integrated ซึ่งเสริมศักยภาพ มิว สเปซ ให้กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศ ในประเทศไทย สามารถทำงานด้านการออกแบบ, สร้าง และประกอบชิ้นส่วน รวมไปถึง ทดสอบประสิทธิภาพดาวเทียมที่ผลิตได้เองครบทุกขั้นตอน มั่นใจช่วยลด ต้นทุนการผลิตได้สูงสุด

 

ในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มิว สเปซ ได้เปิดตัวโรงงานขนาดเล็ก แห่งแรก ใช้ชื่อว่า Factory 0เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ต้นแบบ ต่อมา ได้ทำการเปิดโรงงาน Factory 1 โรงงานแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการผลิตดาวเทียมและชิ้นส่วนดาวเทียมเต็มรูปแบบ และล่าสุด ได้เปิดโรงงาน Factory 2 เป็นโรงงานแห่งที่ 3 เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และระบบพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตดาวเทียมของ มิว สเปซ ภายใต้แนวคิด Vertical-integrated ซึ่งครอบคลุมการทำงานตั้งแต่กระบวนการออกแบบ, สร้าง, ประกอบชิ้นส่วน และ ทดสอบประสิทธิภาพดาวเทียม ตลอดจนเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา ภายในโรงงานแห่งนี้อย่างครบวงจร!

 

มิว สเปซ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการทดสอบชิ้นส่วนบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (Microgravity) ด้วยจรวด New Shepard ของบริษัท Blue Origin มาแล้วถึง 4 ครั้ง อีกทั้งมีแผนในการร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์กับบริษัทต่าง ๆ และ คาดว่าจะสามารถปล่อยดาวเทียมของ มิว สเปซ เพื่อส่งขึ้นไปทดสอบบนชั้นบรรยากาศจริงในเร็ว ๆ นี้ จากการที่บริษัท มิว สเปซ เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีเป้าหมายมุ่งสู่เส้นทางการเป็นบริษัทชั้นนำด้านดาวเทียมและอวกาศระดับโลก จึงมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้สังคมไทยเกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศในประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากล

 

สำหรับ การจัดงานเปิดตัว Virtual Live Satellite Tech Unveil 2021 ได้เผยโฉมดาวเทียม mu-B200ตัวจริง อันเป็นผลงานล่าสุดของ มิว สเปซ สร้างความสนใจให้กับนักลงทุนและประชาชนที่เข้าร่วมชมไลฟ์สดเป็นอย่างมาก โดยทีมวิศวกรของ มิว สเปซ ได้นำเสนอการผลิต และรายละเอียดของระบบดาวเทียมmu-B200 ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 200 กิโลกรัม แต่มีระบบพลังงานสูงถึง 1.2 kW โดยการนำเทคโนโลยีนาโนมาใช้ในกระบวนการพัฒนาระบบพลังงาน ยิ่งไปกว่านั้น ดาวเทียมนี้ยังมีระบบขับดันไฟฟ้าเชื้อเพลิงคริปตอนสำหรับการโยกย้ายวงโคจร และมีสายอากาศแบบแบ่งเฟสที่แตกต่างจากเทคโนโลยีทั่วไปอีกด้วย

 

ในช่วง 10 ปีนี้ อุตสาหกรรมดาวเทียม ได้มีกิจกรรมการปล่อยยานพาหนะทางอวกาศ เพิ่มขึ้นถึง 39 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่า ในปี 2567 อุตสาหกรรมด้านดาวเทียม จะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 508 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ้างอิงตามรายงานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมดาวเทียม ทั่วโลก และ รายงานการพยากรณ์ของ Global Satellite Industry Insights & Forecast Report 2020 ดังนั้น การขยายตัวของ มิว สเปซ สู่ตลาดโลก จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเร่งเครื่องในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดาวเทียมนานาชาติ และอุตสาหกรรมอวกาศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเร่งกำลังขับเคลื่อนให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ บริษัท มิว สเปซ ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน อย่าง B.Grimm Joint Venture อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย รวมไปถึง Majuven Fund และบริษัทเอกชนอื่นๆ อีกมากมาย


 

วรายุทธ เย็นบำรุง หรือ คุณเจมส์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากวันที่เริ่มต้นทำงาน ด้วยโต๊ะทำงานเพียงตัวเดียว มาจนขณะนี้ มีพนักงาน จำนวนมากกว่า 100 คน โดยเราเริ่มการเปิดโรงงาน Factory 0 ที่สามารถสร้างดาวเทียมได้ 1 ตัว และโรงงาน Factory 1 สามารถสร้างดาวเทียมได้ 10 ตัว จนถึงปัจจุบัน โรงงาน Factory 2 ของ มิว สเปซ รองรับกำลังการผลิตดาวเทียม mu-B200 ได้ถึง 100 ตัวด้วยทีมงานวิศวกรของ มิว สเปซ เอง โดยดาวเทียม mu-B200 นั้นมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านประสิทธิภาพและพลังงานที่สูงสุด เพราะดาวเทียมที่มีพลังงานสูงจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและผู้ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

 

สามารถรับชมวิดีโอถ่ายทอดสดย้อนหลังฉบับเต็มได้ที่

Facebook Page: https://fb.watch/8AKYsM0u8E/

YouTube: https://youtu.be/Bv8Mhi6rVmE