24 พ.ย. 2564 1,048 1

“กลุ่มสามารถ” แจงภาพรวมธุรกิจเด่นปี 64

“กลุ่มสามารถ” แจงภาพรวมธุรกิจเด่นปี 64

บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ แจงผลงานปี 64 ชูงานเด่นด้านสื่อสารโทรคมนาคม หรือ ICT ซึ่งปีนี้ ได้โครงการใหม่ ทั้งที่เซ็นสัญญาแล้วและคาดว่าจะเซ็นเร็วๆนี้ มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่างานในมือราว 10,000 ล้านบาท ในส่วนของสามารถดิจิตอล ก็เริ่มฉายแววฟื้นตัวจากธุรกิจ Digital Trunked Radio ซึ่งบริษัทร่วมกับ บมจ.โทรมคมนาคมแห่งชาติ (NT) ในการให้บริการ โดยล่าสุด กฟภ.และกระทรวงมหาดไทยได้เซ็นสัญญาใช้บริการแล้ว อีกทั้ง ยังมีความคืบหน้าของโครงการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ Direct Coding ภายใต้กรมสรรพสามิต ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสหนึ่งปีหน้า และจะสร้างรายได้ต่อเนื่อง 7 ปีนับจากนั้น

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจใหม่  เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิดที่ไม่คลี่คลายในปี 64 ยังคงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการรวมของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งระบบและการก่อสร้างที่ต้องมีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทสามารถก็มีความคืบหน้าทางธุรกิจในหลายด้าน อาทิ กลุ่มสามารถเทลคอม สามารถต่อยอดธุรกิจและขยายฐานลูกค้าใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการชนะประมูลโครงการใหม่ๆ ครอบคลุมบริการเทคโนโลยีหลากหลาย เช่น ระบบบูรณาการแอปพลิเคชันเพื่อการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ Digital Utility, ระบบวิเคราะห์หม้อแปลงไฟฟ้าแบบเรียลไทม์, ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษ, ระบบบันทึกและตรวจสอบลายเซ็นอิเล็คทรอนิกส์,ระบบเฝ้าระวังและรับมือภัยไซเบอร์ และอื่นๆ  คาดว่าจะมีมูลค่างานในมือสะสม (Backlog) ในสิ้นปี 64 ถึง 10,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล บริษัทยังมุ่งพัฒนา Digital ICT Solutions ร่วมกับพันธมิตรระดับโลกอย่างจริงจัง เพื่อนำเสนอโซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์ Digital Transformation ให้แก่ภาครัฐและเอกชน  อาทิ ระบบเครือข่ายการสื่อสารดิจิทัล, บริการ Cyber Security, Banking & Payment Solutions และอื่นๆ  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มสามารถเทลคอมที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต

ในส่วนของบมจ.สามารถดิจิตอล (SDC) ก็เริ่มเห็นสัญญานฟื้นตัวจากความคืบหน้าของธุรกิจ Digital Trunked Radio ซึ่งบริษัทร่วมกับ บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ในการให้บริการ ล่าสุดได้บรรลุสัญญากับ 2 องค์กรใหญ่ในการใช้บริการ คือ กระทรวงมหาดไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่ามีโอกาสในการขยายฐานผู้ใช้บริการได้อีกจำนวนมากจากหน่วยงานราชการที่ต้องประสานงานในการดูแลและให้บริการประชาชนแบบบูรณาการ โดยบริษัทจะรับรู้รายได้ในสองส่วนคือส่วนแบ่งรายได้จากค่าบริการ ( Airtime) และรายได้เสริมจากการจำหน่ายและการให้เช่าเครื่องลูกข่ายซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อสร้างพอร์ตธุรกิจที่สมดุลย์บริษัทจึงให้ความสำคัญกับธุรกิจ Digital Content & Application เช่นกัน โดยเตรียมเปิดตัว 2 mobile application ใหม่ในต้นเดือนธันวาคมนี้

ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินและการเดินทาง ภายใต้บริษัท สามารถแอร์ทราฟฟิค คอนโทรล จำกัด ซึ่งให้บริการศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชาก็มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน จากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมาซึ่งกัมพูชามีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ประกอบกับการเข้าสู่ช่วง High Season ของการเดินทางท่องเที่ยว จึงคาดว่าจากนี้ไปจำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจ Utility ภายใต้ บริษัทเทด้า ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปีนี้ คาดว่าจะมี backlog สะสมไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ โครงการ พิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ Direct Coding ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสรรพสามิต ก็มีการติดตั้งระบบใกล้แล้วเสร็จ โดยจะเปิดบริการในไตรมาสแรกปี 65 ซึ่งจะส่งผลในการรับรู้รายได้ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง 7 ปี รวมมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท


วัฒน์ชัยกล่าวสรุปว่า ปีนี้ เป็นปีแห่งการประคับประคองบริษัทและการเตรียมความพร้อมหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งในภาพรวม สายธุรกิจด้านไอซีทีของบริษัทก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สายธุรกิจ Digital Network & Content ภายใต้บริษัทสามารถดิจิตอลก็เห็นโอกาสในการฟื้นตัวชัดเจน ดังนั้น หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นในปีหน้า ผมมั่นใจว่าผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจะฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างแน่นอน