ทวิตเตอร์ ประกาศเปิดตัวบริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการให้บริการทั่วโลกสำหรับการช่วยค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี (HIV) ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอเมริกา ซึ่งได้แก่ ไทย ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บราซิล ตลาดในแถบแปซิฟิกใต้และลาตินอเมริกา และสหรัฐอเมริกา โดยบริการแจ้งเตือนนี้จะนำเสนอแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์และเชื่อถือได้เกี่ยวกับเอชไอวี และสนับสนุนให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและขอรับความช่วยเหลือยามต้องการ
บริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp นี้ต่อยอดจากบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันของทวิตเตอร์ อาทิ ปัญหาสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย, ข้อมูลการฉีดวัคซีน, การต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก, ข้อมูลโควิด-19 และ การป้องกันความรุนแรงทางเพศ และเสรีภาพในการแสดงออก โดยการทำงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของทวิตเตอร์ในการสร้างความมั่นใจให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลและแหล่งข้อมูลด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูงได้
เมื่อผู้คนค้นหาคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี แถบค้นหายอดนิยมจะปรากฎการแจ้งเตือนภาษาไทย ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้ค้นหาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมถึงแหล่งความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือสายด่วนของหน่วยงานท้องถิ่นด้านสาธารณสุขหรือองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ
ทวิตเตอร์มุ่งมั่นจะทำงานร่วมกับองค์กรด้านสาธารณสุขและองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไรชั้นนำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการความช่วยเหลือเร่งด่วน การเข้าถึงการตรวจทดสอบ การเป็นกำลังใจ รวมถึงบริการให้คำปรึกษา เพื่อให้แน่ใจได้ว่าการค้นหาคีย์เวิร์ดต่างๆ จะได้รับการแสดงผลการแจ้งเตือนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยตัวอย่างคียเวิร์ดภาษาไทย คือ #เอดส์, #เอชไอวี และภาษาอังกฤษ คือ #AIDS, #HIV, #PEP, #PrEP, #KnowYourStatus
มาเฮช มาฮาลิงกัม ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารและการนับสนุนความช่วยเหลือทั่วโลก โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลา 40 ปี นับตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายแรกจนถึงปัจจุบัน ปัญหานี้ยังคงคุกคามโลกอย่างต่อเนื่อง แต่การยุติโรคเอดส์นั้นจำเป็นต้องยุติความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้การเปลี่ยนแปลง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยงแปลงอย่างต่อเนื่องในการต่อการยุติโรคเอดส์ และยังจะช่วยปกป้องโลกจากการระบาดใหญ่ในอนาคตได้ด้วย ดังนั้นเราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับทวิตเตอร์ในการก้าวทำงานต่อไป สำหรับวันเอดส์โลกนี้ เราขอสนับสนุนให้ทุกคนทวีตพร้อมติดแฮชแท็ก #ThereIsHelp เพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเอชไอวี และเตือนตัวเองว่าความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกนี่เองที่จะส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มาจากไหนก็ตาม ในการทำงานกับทวิตเตอร์ เราหวังว่าเราจะสามารถขับเคลื่อนสังคมจากความมุ่นมั่นตั้งใจไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ด้วยการขยายการเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ การส่งเสริมการพูดคุยและกำหนด วาทกรรมสาธารณะ เพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีและครอบคลุมทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ด้าน มนรวี อำพลพิทยานันท์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะและการให้เพื่อสังคม ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า “เรามุ่งมั่นที่จะปกป้องคุณภาพของการสนทนาสาธารณะบนทวิตเตอร์ ความสำคัญของภารกิจนี้ คือ การสร้างความมั่นใจว่าทุกคนสามารถค้นหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทวิตเตอร์ยังตระหนักถึงความสำคัญที่สาธารณชนควรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ ด้วยการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดกว้างและเสรี #OpenInternet เพื่อต่อสู้กับเรื่องของความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี ดังนั้น เราจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและองค์การไม่แสวงหาผลกำไรในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี และสามารถร้องขอความช่วยเหลือยามต้องการ ผ่านการเปิดตัวบริการแจ้งเตือน #ThereisHelp ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเอชไอวีโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ทวิตเตอร์หวังว่าจะได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่อไป เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีในสังคม และร่วมต่อสู้กับการตีตราผู้ติดเชื้อและการเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี”
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอชไอวี ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
การติดเชื้อเอชไอวียังคงเป็นปัญหาสำคัญของการสาธาณสุขในปี 2564 แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการรักษาอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การแบ่งแยกและความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากลำบากที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องเผชิญมาเป็นเวลานาน สำหรับแพร่การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในปัจจุบันยิ่งสร้างความลำบากให้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำและการหยุดชะงักของบริการที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี ในปี 2563 มีทารกและเด็กอายุ 0-14 ปี ประมาณ 800,000 ราย ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวีโดยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้
ธีมของวันเอดส์โลกในปีนี้คือ "ยุติความไม่เท่าเทียมกัน ยุติโรคเอดส์” โดยเน้นย้ำความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของการเข้าถึงบริการรักษาเอชไอวีที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อ โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) กำลังเรียกร้องให้ผู้นำโลกทั้งหลายและพลเมืองทั่วโลกร่วมกันเผชิญหน้าต่อความไม่เท่าเทียมกันที่มีผลต่อโรคเอดส์ในขณะนี้ และเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้คนที่ยังไม่ได้รับบริการรักษาเอชไอวีที่จำเป็นในปัจจุบัน
ข้อมูลของทวิตเตอร์ระบุว่า มีการสนทนาเกี่ยวกับเอชไอวีเพิ่มขึ้นในช่วงวันเอดส์โลก #WorldAIDSDay หรือ วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี โดยในปี 2563 มีทวีตเกี่ยวกับเอชไอวี ทั่วโลกกว่า 9 ล้านทวีต ซึ่ง จำนวนถึง 1 ล้านทวีตเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ทวิตเตอร์ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบในการช่วยสร้างมั่นใจว่า ผู้คนสามารถเข้าถึงและได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในบริการบนทวิตเตอร์ในยามที่พวกเขาต้องการมากที่สุด ชุมชนต่างๆ บนทวิตเตอร์เป็นแหล่งของการสนับสนุนและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการให้กำลังใจซึ่งกันและกันต่อผู้ที่อาจจะกำลังต่อสู้กับการถูกตีตราว่าติดเชื้อ หรือผู้ที่ขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเอชไอวี ตลอดจนรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญการร่วมมือกันในการช่วยสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้น
ทวิตเตอร์ตระหนักดีว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี #OpenInternet และการทำงานร่วมกันกับทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับความเข้าใจผิดต่อเรื่องเอชไอวี องค์กรต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ยังคงใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการระบุและเข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยงซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่เข้าถึงยากและเปราะบาง ทวิตเตอร์จึงหวังว่า บริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp นี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนและส่งเสริมความพยายามขององค์กรต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง
ทวิตเตอร์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรและองค์การไม่แสวงหาผลกำไรในกว่า 30 ตลาดทั่วโลกเพื่อให้บริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp เกี่ยวกับข้อมูลเอชไอวี และยังมุ่งมั่นในการขยายการให้บริการนี้ในตลาดอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ โดยสำหรับในประเทศไทยนั้น ทวิตเตอร์ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) (@apcom) TestBKK (@test_BKK) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (@ddc_riskcom)
มิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา กรรมการบริหาร มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) ให้ความเห็นว่า “ความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคภัยไม่เพียงแต่จะขยายหรือทำให้ชะตากรรมของชุมชุนของคนชายขอบที่เปราะบางและที่ถูกตราหน้าในสังคมจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของประชากรหลักและผู้คนที่ทำงานอยู่กับองค์กรด้านเอชไอวีต่างๆ ในความพยายามที่จะต้องเข้าถึงกลุ่มที่เปราะบางที่สุดด้วย ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิแอ็พคอม และทวิตเตอร์ ภายใต้การให้บริการแจ้งเตือน #Thereishelp จะช่วยทำให้เข้าถึงผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มเป้าหมายหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นกระบอกเสียงและการเพิ่มการรับรู้สำหรับวันเอดส์โลกในปี 2564 นี้ด้วย
ฐิสาณัฒิ แก้วนุกูล เจ้าหน้าที่โครงการ testBKK กล่าวว่า ทาง “testBKK ได้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในชุมชนบนทวิตเตอร์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีการใช้ทวิตเตอร์ และเราได้มีการใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเอชไอวี การรักษาและการป้องกัน เมื่อทวิตเตอร์ได้เปิดตัวบริการแจ้งเตือน #Thereishelp เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องนี้ เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกันในการต่อสู่เพื่อยุติโรคเอดส์ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีไปยังกลุ่มเป้าหมาย”
อีโมจิ #วันเอดส์โลก
ในความร่วมมือกับยูเอ็นเอดส์ (@UNAIDS) พร้อมกันนี้ ทวิตเตอร์ได้เปิดตัวอีโมจิริบบิ้นสีแดงพิเศษเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเอชไอวี อีโมจิซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันเอดส์โลกนี้ สามารถใช้ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 ธันวาคม 2564 โดยจะปรากฏอัตโนมัติเมื่อทวีตพร้อมแฮชแท็ก #WorldAIDSDay and #วันเอดส์โลก.
ทวิตเตอร์เข้าใจบทบาทหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลด้านสาธารณสุขที่สำคัญต่างๆ การช่วยเหลือให้ผู้คนสามารถค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้จึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งช่วยเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ทวิตเตอร์เชื่อว่าบริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp และความร่วมมือตลอดจนโครงการริเริ่มต่างๆ ของทวิตเตอร์ในด้านนี้ จะมีส่วนสนับสนุนและมีคุณประโยชน์ต่อความพยายามอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นอีกซึ่งจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาที่ร้ายแรงนี้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่แห่งใด โปรดรับรู้ไว้ว่ายังมีความช่วยเหลืออยู่เสมอ #ThereIsHelp