3 ธ.ค. 2564 1,480 4

ETDA จัดใหญ่ เปิดตัวแคมเปญ MEiD มีไอดี ‘บริการไทย…ไร้รอยต่อ’ ระดมทุกภาคส่วนร่วมดันไทยใช้งานดิจิทัลไอดีให้สำเร็จ ระดมทุกภาคส่วนร่วมดันไทยใช้งานดิจิทัลไอดีให้สำเร็จ

ETDA จัดใหญ่ เปิดตัวแคมเปญ MEiD มีไอดี ‘บริการไทย…ไร้รอยต่อ’ ระดมทุกภาคส่วนร่วมดันไทยใช้งานดิจิทัลไอดีให้สำเร็จ ระดมทุกภาคส่วนร่วมดันไทยใช้งานดิจิทัลไอดีให้สำเร็จ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมจัดงานใหญ่ “ก้าวแรกบริการไทย…ไร้รอยต่อ (1st STEP TOWARD THAILAND DIGITAL SOCIETY)” กับเปิดตัวแคมเปญ MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจต่อสังคม พร้อมชวน หน่วยงานรัฐ Regulator และพาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็น สู่การกำหนดทิศทางเร่งเครื่องประเทศไทยใช้ดิจิทัลไอดีเชื่อมทุกบริการให้สำเร็จ


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในงาน กล่าวว่า “โลกในปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล บริการต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างผันตัวเองเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด หลายๆ หน่วยงานแชร์ทรัพยากร ข้อมูล รวมถึงเอกสารผ่านทางคลาวด์กันอย่างแพร่หลาย  สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชนของ ETDA ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการช่องทาง เครื่องมือ หรือบริการ ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันดำเนินไปได้อย่างสะดวก ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งการจะผลักดันให้การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเห็นว่าการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) จึงเป็นเสมือนกลไกที่สำคัญในการทำธุรกรรมในยุคปัจจุบัน โดยจากผลการสำรวจยังพบอีกว่า กว่า 2 ใน 3 รู้จักและเคยใช้บริการดิจิทัลไอดี (Digital ID) ผ่านบริการต่างๆ แล้ว ขณะที่บางคนเคยใช้ แต่ก็ไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่ากิจกรรมดังกล่าว คือ ดิจิทัลไอดี นอกจากนี้ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ คือ ความสะดวก รวดเร็วในการใช้งาน ความปลอดภัยและการมีมาตรฐานของการใช้บริการดิจิทัลไอดี โดยแพลตฟอร์มที่อยากให้ผนวกกับการบริการดิจิทัลไอดีมากที่สุด คือ บริการสวัสดิการจากทางภาครัฐ รองลงมาคือ บริการทางการเงิน บริการเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ต่างๆ และบริการทางการศึกษา สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า สังคมส่วนใหญ่อาจยังมีการรับรู้เกี่ยวกับดิจิทัลไอดีที่ยังไม่มากพอ ทั้งๆ ที่ดิจิทัล ไอดี คือ ประตูบานสำคัญของทุกการทำธุรกรรมออนไลน์ที่จะช่วยทั้งในมุมด้านความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ ดังนั้น การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลไอดีให้เกิดขึ้นกับสังคม พร้อมๆ กับสร้างความร่วมมือในกลุ่มภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานดิจิทัลไอดีในทุกบริการดิจิทัลของไทย จึงเป็นประเด็นที่เราจะต้องให้ความสำคัญ ซึ่ง แคมเปญ MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” โดย ETDA นี้จะเป็นหนึ่งช่องทางสำหรับการสื่อสาร ตลอดจนการสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยเกิดการใช้งานดิจิทัลไอดี รองรับโลกอนาคต             ได้สำเร็จ”


ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยเดินหน้าส่งเสริมให้เกิดการใช้ดิจิทัล ไอดีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมุมของกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้องและพัฒนาโครงการพื้นฐานทางสารสนเทศที่รองรับการใช้งาน ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบและอนุมัติในหลักการด้านการพัฒนาระบบรองรับ Digital ID ด้วย Face Verification Service (FVS) ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการสนับสนุนในหลายๆ ด้าน แต่การใช้งานดิจิทัลไอดียังไม่ขยายวงกว้างมากพอ นี่จึงเป็นประเด็นท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญ ETDA ที่มุ่งดำเนินงานเพื่อยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จึงได้เดินหน้าผลักดันให้คนไทยเกิดการใช้งานดิจิทัลไอดีมาโดยตลอด ทั้งการร่วมจัดทำแนวทางปฏิบัติ มาตรฐาน กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการทำธุรกรรมทางออนไลน์ด้วยดิจิทัลไอดีและร่วมสร้างนวัตกรรม โซลูชั่นรองรับการใช้งาน ผ่านโครงการ ETDA Sandbox พร้อมร่วมพัฒนา Digital ID framework เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาบริการดิจิทัลไอดีให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการที่จะขับเคลื่อนดิจิทัลไอดีให้เกิดขึ้นจริง จะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน ที่จะต้องเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในบทบาทที่แตกต่างกัน ดังนั้น แคมเปญ MEiD (มีไอดี) “บริการไทย...ไร้รอยต่อ” ภายใต้โครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Identity) จึงเป็นหนึ่งการดำเนินงานที่จะผนึกกำลังทุกภาคส่วน ที่จะเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยเกิดการใช้งานดิจิทัลไอดี ที่จะเชื่อมโยงทุกบริการมากยิ่งขึ้น เพราะ MEiD (มีไอดี) จะประกอบไปด้วยกิจกรรมในหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการสื่อสาร สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ดิจิทัลไอดี และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น  Facebook: MEiD (มีไอดี), Line: @meid_thailand, Twitter: MEiD มีไอดี กิจกรรมการสำรวจความคิดเห็นทั้งฝั่ง demand และ supply จากหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน เพื่อสะท้อนภาพความต้องการ ข้อกังวล หรือ pain point การรับรู้ต่างๆ ที่มีต่อบริการดิจิทัลไอดีไทย สู่การเป็นฐานข้อมูลในการนำไปกำหนดทิศทางการทำงานต่อไป และที่สำคัญคือ กิจกรรม Hackathon เพื่อหานวัตกรรม โซลูชัน เกี่ยวกับดิจิทัลไอดี จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึง สตาร์ทอัพ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของคนไทยมากที่สุด”

MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” จึงเป็นหนึ่งกลไกที่ไม่เพียงปูฐานสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อบริการดิจิทัลไอดีให้เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนพร้อมสู่โลกอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง Regulatorพร้อมทั้งการร่วมผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลไอดีกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงประชาชน สู่บริการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง สะดวก และปลอดภัย” ดร.ชัยชนะ                      กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดหรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ MEiD มีไอดี: www.facebook.com/meid.thailand